Last update: 4 ส.ค. 2566 , 09:56

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ)
Bachelor of Science Program in Digital Innovation (International Program)
         หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) ใช้เวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร 4 ปี โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ได้แก่ การเป็นผู้ประกอบการ เทคโนโลยีดิจิทัล วิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ สถิติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตบัณฑิต ที่มีความสามารถในการเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาใช้ใน การวิเคราะห์สังเคราะห์อภิมหาข้อมูลหลากหลายรูปแบบมาเป็นสารสนเทศที่สามารถ เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ สำหรับแข่งขันบนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลทั้งระดับชาติ และนานาชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป


          นักศึกษาในหลักสูตร สามารถเลือกแผนการเรียนได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. หลักสูตร 4 ปี ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หลักสูตรปริญญาเดียว)
  2. หลักสูตร 2+2 โดยศึกษา 2 ปีแรก ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 2 ปีหลัง ณ มหาวิทยาลัยพันธมิตรในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการเรียน
    ด้านการเป็นผู้ประกอบการ หรือ วิทยาการข้อมูล (หลักสูตร 2 ปริญญา) ได้แก่
    -    Curtin University เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย หลักสูตร Data Science 
    -    University of Strathclyde เมือง Glasgow ประเทศอังกฤษ หลักสูตร  Entrepreneur

      The B.S. in Digital Innovation (International Program) is a 4-year Curriculum. This program is a combination of disciplines, namely : Entrepreneurship, Digital Technology, Computer Science, Mathematics, Statistics, and related Laws. This program is designed to produce graduates who are able to effectively assort and adapt disruptive technology to use for big data analysis in order to enhance business value and stay sustainably competitive in global digital economy.
          Students will be offered 2 choices of study plans including

  1. 4-year program in Thailand at CMU-ICDI (one degree study plan)
  2. 2+2 double degree program 2 years in Thailand at CMU -ICDI and other 2 years at leading universities abroad.
    -    Curtin University, in Perth, Australia, it is Bachelor of Science Data Science Major.
    -    University of Strathclyde, in Glasgow of the United Kingdom, it is Bachelor Degree of Business Enterprise. 

เปิดรับสมัครนักเรียนที่สําเร็จแผนการศึกษา:

  • หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ แผนการเรียนสายวิทย์ และแผนการเรียนสายศิลป์
  • หลักสูตรโรงเรียนนานาชาติ อาทิ หลักสูตร GCE 'A' Level ใน Year 13 และมีผลสอบมาตรฐานจากโรงเรียนในสังกัด , Grade 12th ในหลักสูตรนานาชาติและมีผลสอบมาตรฐานจากโรงเรียนในสังกัด, หลักสูตร International Baccalaureate (IB) และมีผลสอบมาตรฐานจากโรงเรียนในสังกัด, หลักสูตร New Zealand National Certificate of Educational Achievement (NCEA) หลักสูตรอื่นๆ โดยเป็นไปตามประกาศเรื่อง เกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
  • หลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัย (GED) 
  • หลักสูตรอาชีวศึกษา (เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ - ปวช.)

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?

  • แรงงานดิจิทัลในภาคเอกชน หรือ รัฐบาล
  • นวัตกร
  • สตาร์ทอัพ
  • เจ้าของกิจการ
  • Work as digital workforce/digital nomad in private or public sectors
  • Work as an innovator/technocrat in digital technologies
  • Work in startup business.
  • Be your own boss!

ค่าธรรมเนียมการศึกษา

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) สำหรับหลักสูตร 4 ปีการศึกษาในประเทศไทย (ปริญญาเดียว) 
    - ภาคการศึกษาปกติ 55,000 บาท/คน/ภาคการศึกษา
    *หลักสูตรนานาชาติไม่มีภาคฤดูร้อน
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) และศึกษาต่ออีก 2 ปีหลังในมหาวิทยาลัยพันธมิตร (ปริญญาคู่) 
    - ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ในประเทศไทย ภาคการศึกษาปกติ 55,000 บาท/คน/ภาคการศึกษา
    - ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ในต่างประเทศ *ขึ้นอยู่อัตราค่าธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยพันธมิตร
    ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566

ข้อมูลการรับเข้าศึกษาประจำปีการศึกษา 2567
สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์
สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สามารถดาวน์โหลดเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรนวัตกรรมดิจิทัล (หลักสูตรนานาชาติ) ได้ที่ https://cmu.to/dinopenhouse2024 หรือ สแกน QR-code


โครงการเรียนล่วงหน้าของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล

โครงการเรียนล่วงหน้า "Prep-school in Digital Literacy
and English Proficiency skills"และการลงทะเบียนกระบวนวิชาเรียนร่วมผ่าน Lifelong Education (LE)
          Advance Placement Program (AP): โครงการ Prep-School สำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเก็บหน่วยกิตการเรียนและผลการศึกษา พร้อมทั้งเสริมทักษะทางด้านภาษาอังกฤษและทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ ก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยฯ
          การลงทะเบียนกระบวนวิชาเรียนร่วมผ่าน Lifelong Education (LE): ผู้เรียนหรือนักเรียนที่มิได้มีสถานภาพเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาเรียนร่วมของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ผ่านเว็ปไซต์ Lifelong Education (LE) https://www2.lifelong.cmu.ac.th โดยผู้เรียนในกลุ่มนี้ จะได้ลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาต่างๆ พร้อมกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ต้องเข้าชั้นเรียน เข้ารับการสอบวัดระดับ เพื่อเก็บหน่วยกิตและผลการศึกษากระบวนวิชาล่วงหน้า ก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยฯ 

       เมื่อนักเรียนหรือผู้เรียนศึกษาจบจากโครงการ Advance Placement Program (AP) หรือ จากการลงทะเบียนกระบวนวิชาเรียนร่วมผ่าน Lifelong Education (LE) และได้สอบผ่านการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีสถานภาพเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว สามารถทำเรื่องขอเทียบโอนหน่วยกิต โดยไม่จำเป็นจะต้องลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาที่ได้ศึกษาแล้วในโครงการเรียนล่วงหน้าซ้ำ
      ทั้งนี้ กระบวนวิชาที่สามารถเทียบโอนจากโครงการเรียนล่วงหน้าได้ จะต้องมีผลการศึกษาตั้งแต่ C ขึ้นไป หรือ C เมื่อเทียบโอนเข้ามาผ่านระบบคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะได้รับลำดับขั้นการศึกษาเป็น CX (ตรวจสอบ: ประกาศฯ เรื่อง การโอนและการเทียบโอนหน่วยกิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรี)

เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า:

สุธิดา แซ่ลี้
ศิษย์เก่าในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล

" สวัสดีค่ะ ชื่อสุธิดา แซ่ลี้ ชื่อเล่น ดา นะคะ จบการศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. รหัส 62 ค่ะ ปัจจุบันช่วยธุรกิจที่บ้านและกำลังศึกษาปริญญาโทค่ะ "

ชีวิตในมหาวิทยาลัย
"ในคณะเล็กๆของเราเต็มไปด้วย “ความอบอุ่นใจ” ICDI เหมือนบ้านหลังที่ 2 ในช่วงปีแรกก่อนจะมีโควิด19 รุ่นเราอยู่ในคณะมากกว่าอยู่บ้านซะอีก ทำกิจกรรม เรียน ติว และอื่นๆอีกมากมาย โดยทั้งหมดมีอาจารย์และพี่เจ้าหน้าที่คอยซัพพอตอยู่เสมอ วิชาไหนต้องการเรียนเพิ่ม ก็จะมีการจัดติวเสริมให้ หากมีกิจกรรมไหนที่มีประโยชน์ต่อนักศึกษาพี่เจ้าหน้าที่ก็จะคอยส่งข้อมูลให้อยู่ตลอดๆ หากใครมีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องไหนก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือแทบจะ 24 ชม. กิจกรรมทั้งของคณะ ของสโมสรคณะหรือของสโมสรนักศึกษา มช. มีให้เข้าร่วมตลอดทั้งปี"

"ในส่วนของการเรียนการสอน ช่วง 2 ปีแรกจะเป็นการเรียนตัวพื้นฐานต่างๆ มีการเรียนคลาสของทั้งในและนอกคณะ ส่วน 2 ปีหลังจะเรียนในคณะของเราซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเนื้อหาของคณะเราจะมีความหลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกธุรกิจสตาร์ทอัพในปัจจุบัน มีการนำธุรกิจที่มีอยู่มาวิเคราะห์และหาโอกาสใหม่ๆจากธุรกิจเดิม หรือพัฒนาธุรกิจใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์คนในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากนี้ ยังมีการได้เรียนรู้วิธีการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพทุกๆขั้นตอน คณะก็จะมีการนำเทคโนโลยีหรือเทรนด์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตมา สอนเพื่อให้เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตัวเองในอนาคตได้ ที่สำคัญยังให้นักศึกษาสามารถทำโปรเจกต์ธุรกิจของตนเองขึ้นมาโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจกต์คอยให้คำแนะนำ/คำปรึกษาอยู่เสมอซึ่งคณะมีทุนให้นักศึกษาสำหรับส่วนนี้ด้วย"

ในการทำงานปัจจุบัน
"ด้วยความที่ดาช่วยธุรกิจที่บ้านอยู่ ความรู้ที่ได้เรียนมาในมหาวิทยาลัยถือได้ว่ามีประโยชน์อย่างมาก ตอบโจทย์สำหรับการที่จะพัฒนาธุรกิจดั้งเดิมให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราสามารถรู้เท่าทันเทรนด์หรือเทคโนโลยีต่างๆที่เกิดขึ้น และสามารถใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจได้เป็นอย่างดี"

สิ่งที่อยากบอกน้องๆ
"ICDI เป็นวิทยาลัยที่มากกว่าแหล่งให้ความรู้ เราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีอาจารย์ และพี่เจ้าหน้าที่ที่พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมเราในทุกๆด้านทั้งการเรียนและกิจกรรมต่างๆ มีรุ่นพี่ที่อบอุ่นเป็นกันเอง มีกิจกรรมสนุกสนานมากมายรอเราอยู่ ในวันที่จบมาแล้วน้องๆจะคิดถึงช่วงเวลาในรั้ว ICDI อย่างแน่นอน"

 

ข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนักศึกษา:

นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. ได้รับรางวัล Best Presentation ในการนำเสนอแผนและแนวทางการแก้ปัญหาสังคม ในกิจกรรมเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ AUN Experiential Learning Program ณ ประเทศสิงคโปร์

นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 2 คน ได้แก่ นายปัณณพนต์ เภตรา ชั้นปีที่ 4 และ นางสาวเพชรพราว สมจิต ชั้นปีที่ 3 เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ AUN ASEAN Experiential Learning Program ในระหว่างวันที่ 18 – 24 มิถุนายน 2566 ณ ประเทศสิงคโปร์ จัดขึ้นโดย AUN Secretariat ร่วมกับ Nanyang Technological University และ National University of Singapore โดยมีตัวแทนนักศึกษาจำนวน 40 คน จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน 22 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมกิจกรรม อันมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับประเด็นอันมีผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ Theme: SMART NATION: TRANSFORMING OUR NATIONS THROUGH TECHNOLOGY ผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยนางสาวเพชรพราว สมจิต ตัวแทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล Best Presentation ในการนำเสนอแผนและแนวทางการแก้ปัญหาสังคม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

อนึ่ง การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มีอาจารย์ ดร. วรวิทย์ เทพแสน ร่วมเดินทาง และร่วมหารือกับ Nanyang Technological University มหาวิทยาลัยมหิดล และ Hanoi School of Business and Management, Vietnam National University ประเทศเวียดนาม ถึงการสร้างความร่วมมือในการจัดโครงการบริการสังคมแก่นักศึกษา เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมและความเข้าใจในสังคมอาเซียน โดยจะมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกันในอนาคต

นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. จำนวน 39 คน ได้รับรางวัลเรียนดีประจำปีการศึกษา 2565

สโมสรนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดพิธีไหว้ครู ประจำปีการศึกษา 2566 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล เป็นประธาน และรองศาสตราจารย์ ดร.มานัดถุ์ คำกอง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวให้โอวาทและมอบใบประกาศเกียรติคุณนักศึกษาที่ได้รับรางวัลเรียนดีจำนวนทั้งหมด 39 ราย ในปีการศึกษา 2565 ที่ผ่าน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2566

คำถามที่พบบ่อยๆ

ความแตกต่างของหลักสูตรปริญญาเดียว และหลักสูตรปริญญาคู่
หลักสูตรปริญญาเดียวในประเทศไทย

        ในระดับชั้นปีที่ 1 และ ชั้นปีที่ 2 นักศึกษาจะได้เรียนวิชาพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดทำโปรเจ็กต์ธุรกิจ Startup ในช่วงชั้นปีที่ 3 และ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นสองปีสุดท้ายที่นักศึกษาจะได้เรียนวิชาเมเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) อาทิเช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิต อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร พลังงานชีวภาพและชีวเคมี การออกแบบความปลอดภัย Blockchain พลังงานและโลจิสติกส์ เป็นต้น 

 

หลักสูตรปริญญาคู่ในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยพันธมิตร
        ในระดับชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 นักศึกษาจะได้เรียนกระบวนวิชาเช่นเดียวกันกับนักศึกษาที่เลือกเรียนในหลักสูตรปริญญาเดียวที่ประเทศไทย เมื่อจบการศึกษาในชั้นปีที่ 2 และนักศึกษาได้เก็บกระบวนวิชาครบตามโครงสร้างหลักสูตรในสองปีแรกเรียบร้อยแล้ว สามารถเลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยพันธมิตรในต่างประเทศ โดยจะเป็นการเทียบโอนหน่วยกิตและกระบวนวิชาฯที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปยังมหาวิทยาลัยในพันธมิตรฯ
เมื่อนักศึกษาจบศึกษาชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 พร้อมทั้งได้รับปริญญาหนึ่งใบจากมหาวิทยาลัยพันธมิตรแล้ว ให้นักศึกษาดำเนินการเทียบโอนหน่วยกิตและเกรดในต่างประเทศกลับมายังหลักสูตรนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการเก็บหน่วยกิตและกระบวนวิชาที่เหลือ หากหน่วยที่เทียบโอนมาครบถ้วนสมบูรณ์ก็สามารถรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกหนึ่งใบปริญญาตรี
         ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพันธมิตรในต่างประเทศ ประกอบด้วยดังนี้
- Curtin University เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย หลักสูตร Data Science
- University of Strathclyde เมือง Glasgow ประเทศอังกฤษ หลักสูตร Entrepreneur

 วิธีการสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผ่านช่องทาง CMU-IPAS 
            นอกจากการรับเข้าในระบบ TCAS แล้ว วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรดิจิทัลได้เปิดรับสมัครนักศึกษาผ่าน CMU-IPAS เช่นกัน
            CMU-IPAS หรือ Chiang Mai University International Program Admission System ช่องทางการสอบคัดเลือกสำหรับหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรสองภาษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเปิดรับสมัครทั้งนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติผ่านเว็ปไซต์การรับสมัครของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ https://www1.reg.cmu.ac.th/reg-ipas 
            รูปแบบการสอบคัดเลือกของ CMU-IPAS ในหลักสูตรนวัตกรรมดิจิทัลจะแบ่งออกเป็น 2 Tracks ดังนี้
- REGULAR TRACK: ผู้สมัครที่ไม่มีผลสอบภาษาอังกฤษ (อาทิเช่น IELTS, TOEFL หรือ TOEIC) และไม่มีผลสอบคณิตศาสตร์ SAT หรือ AP-test ของ College Board ผู้สมัครจะต้องสมัครใน Track 1 ดังกล่าว เพื่อเข้ารับการข้อเขียนจำนวน 2 วิชา ประกอบด้วยการสอบวิชาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (English Placement Test) และสอบวิชาสถิติของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล พร้อมทั้งเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ (หมายเหตุ: ในกรณีที่ผู้สมัครมีผลสอบภาษาอังกฤษถึงเกณฑ์กำหนด แต่ไม่มีผลสอบ SAT หรือ AP ของ College Board ให้ยื่นผลสอบภาษาอังกฤษในระบบการรับสมัครของ Track 1 และเข้ารับการสอบข้อเขียนเป็นวิชาสถิติเพียงวิชาเดียว) 
- SPECIAL TRACK: ผู้สมัครที่มีผลสอบภาษาอังกฤษถึงเกณฑ์ตามกำหนด (อาทิเช่น IELTS, TOEFL หรือ TOEIC) และมีผลสอบคณิตศาสตร์ SAT หรือ AP-test ของ College Board ผู้สมัครที่มีผลสอบครบตามเกณฑ์ให้สมัครสอบคัดเลือกใน Track 2 เพื่อส่งผลสอบคะแนนให้กับทางคณะกรรมการพิจารณา หากมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์กำหนด จะได้รับการสอบสัมภาษณ์ต่อไป  


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  
239 ถ.นิมมานเหมินทร์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 053-943711-12  
เว็บไซต์ : www.icdi.cmu.ac.th
E-mail : icdi@cmu.ac.th
Facebook : CMU International College of Digital Innovation

 

ดาวน์โหลด PDF:

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารหลักสูตร หรือ TCAS ของคณะ

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล