Last update: 27 ก.ย. 2567 , 14:45

           คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ แห่งแรกในภาคเหนือ มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางนำทางวิชาการ ทางด้านสุขภาพสัตว์ของภาคเหนือ และอาเซียน ไปพร้อมๆ กับการเกื้อหนุนและตอบสนองความต้องการของชุมชน

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567

หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต
          
มุ่งที่จะผลิตบัณฑิตที่มีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และทางด้านคลินิกอย่างครอบคลุมและพอเพียงในการนำความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์มาใช้เพื่อการประกอบวิชาชีพตามที่สัตวแพทยสภากำหนด และมีความถนัดตามสปีชีส์หรือแขนงที่สนใจ เป็นผู้ที่มีสมรรถนะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และยึดมั่นในคุณธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อสวัสดิภาพของสัตว์และสุขภาพหนึ่งเดียวของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
วุฒิการศึกษาที่ใช้สมัครเรียน
-  เป็นผู้กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
- กำลังศึกษาอยู่ Grade 12 (ในระบบอเมริกัน) หรือ Year 13 (ในระบบอังกฤษ)
- สำหรับหลักสูตรการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
เป็นผู้กำลังศึกษานอกระบบ/อัธยาศัย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ เป็นผู้สำเร็จการศึกษานอกระบบ/อัธยาศัย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- สำหรับหลักสูตรเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบการคัดเลือกกลาง (เช่น GED) เป็นไปตามประกาศเรื่อง เกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
ค่าธรรมเนียมการศึกษา – รายเทอม
- ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาปกติ(ภาคการศึกษาละ) 20,000 บาท ภาคฤดูร้อน (ภาคการศึกษาละ) 10,000 บาท
- ชั้นปีที่ 2 ภาคการศึกษาปกติ(ภาคการศึกษาละ) 25,000 บาท ภาคฤดูร้อน (ภาคการศึกษาละ) 12,500 บาท
- ชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาปกติ(ภาคการศึกษาละ) 30,000 บาท ภาคฤดูร้อน (ภาคการศึกษาละ) 15,000 บาท
- ชั้นปีที่ 4 การศึกษาระบบรายปี (ปีการศึกษาละ) 60,000 บาท
- ชั้นปีที่ 5 การศึกษาระบบรายปี (ปีการศึกษาละ) 70,000 บาท
- ชั้นปีที่ 6 การศึกษาระบบรายปี (ปีการศึกษาละ) 70,000 บาท
แนวทางการประกอบอาชีพ
1. ธุรกิจส่วนตัว ผู้ที่จบการศึกษาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และขึ้นทะเบียนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภา สามารถเปิดคลินิกหรือโรงพยาบาลเพื่อให้บริการรักษาและดูแลสุขภาพสัตว์ได้ หรือ ทำธุรกิจด้านอื่นๆ ที่ใช้ความสามารถด้านการสัตวแพทย์ เช่น ธุรกิจยาสัตว์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการรักษาสัตว์ จัดตั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนตัว ฯลฯ
2. รับราชการ สามารถประกอบวิชาชีพในหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ต้องการสัตวแพทย์ เช่น
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมปศุสัตว์ ทำงานด้านการควบคุม ป้องกัน และปราบปรามโรคระบาดสัตว์ในประเทศและระหว่างประเทศ ดูแล ควบคุมกำกับการใช้สารต่างๆ ในอาหารสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการรณรงค์ความปลอดภัยของอาหารทั่วประเทศ
- กระทรวงมหาดไทย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองกำกับการตำรวจม้า ฯลฯ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ รวมทั้งเป็นนายสัตวแพทย์ประจำหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล เป็นต้น
- กระทรวงกลาโหม เช่น สำนักงานทหารพัฒนาการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กรมการสัตว์ทหารบก ศูนย์การสุนัขทหาร กองพันสัตว์ต่าง ฯลฯ เพื่อวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการจัดหาเวชกรรมป้องกัน รักษาพยาบาลและผลิตสัตว์ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม
- กระทรวงศึกษาธิการ สามารถเป็นอาจารย์สัตวแพทย์ หรือ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านการเรียนการสอน การวิจัย และดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ ในสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่นที่จัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- กระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมควบคุมโรคติดต่อกรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น
3. องค์กรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจยาสัตว์และวัคซีน ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อและนม ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านวิชาการแก่ผู้รับบริการ และมีโอกาสร่วมในงานวิจัยของฝ่ายวิชาการของบริษัทต่างๆ
4. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลสัตว์ หลักสูตร 4 ปี
          
มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะด้านวิชาการและทักษะปฏิบัติสำหรับงานทางการพยาบาลสัตว์ อีกทั้งมุ่งพัฒนาจรณทักษะที่จำเป็นในการประกอบสัมมาชีพและส่งเสริมคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาสมรรถนะหลักให้บัณฑิตสามารถทำงานอย่างมืออาชีพตามต้องการของผู้ใช้บัณฑิตอย่างแท้จริง
วุฒิการศึกษาที่ใช้สมัครเรียน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ค่าธรรมเนียมการศึกษา – รายเทอม
- ชั้นปีที่ 1-3 ภาคการศึกษาปกติ(ภาคการศึกษาละ) 20,000 บาท ภาคฤดูร้อน (ภาคการศึกษาละ) 10,000 บาท
- ชั้นปีที่ 4 การศึกษาระบบรายปี (ปีการศึกษาละ) 40,000 บาท
แนวทางการประกอบอาชีพ
ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลสัตว์ ประกอบอาชีพได้ในหลากหลายรูปแบบ มีดังนี้

-  นักการพยาบาลสัตว์ในเวชปฏิบัติของสถานพยาบาลสัตว์ภาครัฐบาลและเอกชน
-  ราชการสังกัดกระทรวง กรม หรือกองที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวง
สาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และองค์การปกครองท้องถิ่น
-  พนักงานบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์
-  เจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์
-  เจ้าหน้าที่สวนสัตว์
-  นักวิชาการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์
-  นักวิชาการโภชนการสำหรับสัตว์
-  นักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์
-  อาจารย์ในสถาบันการศึกษา

ศิษย์เก่าดีเด่น

นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ

ประวัติการศึกษา 
   ปริญญาตรี สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2548
   ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตรการสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ปี 2565

ตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน
   พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงาน (ระดับ 4) งานอนุรักษ์ช้าง ส่วนอนุรักษ์ช้างลำปาง ฝ่ายอนุรักษ์ช้าง

ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2548-2560 ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ  ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
พ.ศ. 2560-2565 ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

งานอื่น ๆ 
     - ปี พศ.2542 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมเพื่อนสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
     - ปี พศ.2541-2543 ตำแหน่งกรรมการฝ่ายกีฬา สโมสรนักศึกษา คณะสัตว-แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
     - ปี 2545 ตำแหน่งอุปนายกฯ ฝ่ายใน สโมสรนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
     - ปี2559-2561 ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ สอนบรรยาย ในกระบวนวิชาภาพลักษณ์ทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลงานดีเด่น
      นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ เริ่มชีวิตการทำงานในปี พ.ศ. 2548 โดยเป็นสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบัน คชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งในเวลานั้นสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านช้างมีจำนวนน้อยมาก ทำให้นอกจากการให้การดูแลและรักษาช้างภายในโรงพยาบาลช้างและช้างจำนวนมากกว่า 100 เชือกภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยแล้ว นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ยังได้ออกปฏิบัติงานออกตรวจและให้บริการสุขภาพช้าง ที่เป็นของภาคเอกชนและประชนทั่วไป ในสถานที่ต่างๆ ทั้งตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหรือถิ่นทุรกันดารต่างๆ ช้างที่อาศัยอยู่ตาม แนวชายแดนใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ช้างเหล่านั้นได้เข้าถึงและสามารถรับบริการด้านสุขภาพช้างได้มากขึ้น ลดปัญหาเจ็บป่วยที่รุนแรงและ การเสียชีวิตของช้างได้  จากการปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพช้างมาเป็นหลายปีจนมีความเข้าใจและชำนาญ นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ก็ได้ความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาและมอบหมายงานที่เป็นงานสำคัญและเป็นเกียรติสูงสุดของการทำงานคือการได้เป็นนายสัตวแพทย์เวรถวายงานดูแลคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหลฯ ช้างเผือกเอกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ณ โรงช้างต้น พระตำหนักวังไกลกังวล ช้างสำคัญ ณ โรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และช้างสำคัญ ณ โรงช้างต้น จังหวัดลำปาง รวมถึงการถวายงานในโครงการพระราชดำริต่างๆด้านช้าง
       นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ เจริญเติบโตในหน้าที่การงานเป็นลำดับ ในปี พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2558 ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโรงพยาบาลช้างลำปางและหัวหน้าหน่วยช่วยชีวิตช้าง ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอีกงานหนึ่งในการควบคุมดูแลและดำเนินงานการให้การบริการสุขภาพช้างทั้งในและนอกโรงพยาบาลช้างให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมช้างอาละวาด ช้างตกมัน เพื่อลดความสูญเสียต่อชุมชนและตัวช้างเอง ในปี พ.ศ. 2558 นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ ซึ่งในขณะนั้นทางโรงพยาบาลช้างกระบี่ ได้ก่อตั้งขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชประสงค์ให้ช้างเลี้ยงในพื้นที่ภาคใต้ได้รับการดูแลและการบริการสุขภาพช้างอย่างทั่วถึง นอกจากการให้การบริการสุขภาพช้างแล้ว ด้วยในขณะนั้นโรงพยาบาลช้างกระบี่ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนในพื้นที่ นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ จึงได้ทำงานเชิงรุกเพื่อให้คนในจังหวัดกระบี่และภาคใต้ตอนล่างรู้จักผ่านโครงการต่างๆ มากมาย จนทำให้โรงพยาบาลช้างกระบี่เป็นความภาคภูมิใจคนจังหวัดกระบี่และสนับสนุนกิจการงานต่างๆของโรงพยาบาลช้างกระบี่มาจนถึงปัจจุบัน
ในปีระหว่างปี พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2565 นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้ลาออกจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อมาทำงานในตำแหน่งสัตวแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านสุขภาพช้างและสนับสนุนการทำงานวิจัยต่างๆ ที่ข้องเกี่ยวกับช้างของอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาของ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานที่สำคัญของนายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ คือการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและหางบประมาณสนับสนุนการทำงานของศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่าฯ อาทิเช่น การหางบประมาณจากหน่วยงานต่างชาติเพื่อจัดชื้อรถยนต์ขับเคลื่อนสีล้อสมรรถภาพสูงเพื่อเป็นรถคลินิกช้างเคลื่อนที่ของศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การประสานงานกับปางช้างต่างๆ จนสามารถก่อตั้งเป็นสมาคมสหพันธ์ช้างไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐยังเป็นหนึ่งในคณะทำงานในการขอพื้นและออกแบบ ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนของบประมาณการก่อสร้าง ระหว่างที่ทำงานในคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ก็ได้พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นในด้านวิชาการโดยการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์การสัตวแพทย์ และสามารถตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารนานาชาติระดับควอไทล์ที่ 1 (Q1) จำนวน 2 เรื่อง
       ในปี พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้กลับมาทำงานในโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้อีกครั้งหนึ่ง โดยนอกเหนือจากการทำงานด้านการให้บริการสุขช้างแล้ว นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์องค์กร การร่วมมือและประสานงานหน่วยงานต่างประเทศเพื่อพัฒนางานด้านวิชาการ การพัฒนาปรับปรุงคุณภาชีวิตช้างไทย และเผยแพร่ความรู้ด้านการเลี้ยงช้างไทยในระดับนานาชาติ ผลงานที่สำคัญในระหว่างการทำงานในสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ คือได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นคณะทำงานการปฏิบัติงานเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์จากประเทศศรีลังกากลับมายังประเทศไทย ซึ่งนายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐได้รับมอบหมายงานและรับผิดชอบในส่วนสำคัญคือการวางแผนการเตรียมตัวช้าง ควบคุมการเคลื่อนย้ายภาคพื้นดินจากสวนสัตว์เดฮิวาลาไปยังสนามบินในกรุงโคลอมโบ และควบคุมขนย้ายช้างทางอากาศ จนสามารถเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมายังประเทศไทยด้วยความปลอดภัย ซึ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
ด้านงานวิชาการและการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการสุขภาพช้าง นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ มีผลงานวิชาการทั้งเป็นผู้วิจัยหลักและวิจัยร่วมวิจัยในระดับนานาชาติและในประเทศมากว่า 15 เรื่อง ทั้งนี้ยังได้รับทุนเพื่อไปศึกษาดูงานและนำเสนอผลงานวิชาการช้างในต่างประเทศมากกว่า 10 ครั้ง ในด้านการแบ่งปัญความรู้และประสบการณ์ด้านช้าง นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐได้ให้ความรู้และสอนนักศึกษาสัตวแพทย์ไทยและต่างประเทศจากหลายสถาบัน ทั้งนี้ยังได้รับเชิญจากหน่วยงานรัฐและเอกชนจากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา เนปาล และพม่า เพื่อไปให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์การจัดการดูแลสุขภาพช้างและสวัสดิภาพช้างเลี้ยงอีกด้วย

คำประกาศเกียรติคุณ
       นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สัตวแพทยศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ เริ่มชีวิตการทำงานในปี พ.ศ. 2548 โดยเป็นสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และได้ออกปฏิบัติงานออกตรวจและให้บริการสุขภาพช้าง ที่เป็นของภาคเอกชนและประชนทั่วไป ในสถานที่ต่างๆ ทั้งตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหรือถิ่นทุรกันดารต่างๆ ช้างที่อาศัยอยู่ตาม แนวชายแดนใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ช้างเหล่านั้นได้เข้าถึงและสามารถรับบริการด้านสุขภาพช้างได้มากขึ้น ลดปัญหาเจ็บป่วยที่รุนแรงและ การเสียชีวิตของช้างได้
      นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้รับมอบหมายให้เป็นนายสัตวแพทย์เวรถวายงานดูแลคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหลฯ ช้างเผือกเอก ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ณ โรงช้างต้น พระตำหนักวังไกลกังวล ช้างสำคัญ ณ โรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และช้างสำคัญ ณ โรงช้างต้น จังหวัดลำปาง รวมถึงการถวายงานในโครงการพระราชดำริต่างๆด้านช้าง
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2554-2558 ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโรงพยาบาลช้างลำปางและหัวหน้าหน่วยช่วยชีวิตช้าง ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอีกงานหนึ่งในการควบคุมดูแลและดำเนินงานการให้การบริการสุขภาพช้างทั้งในและนอกโรงพยาบาลช้างให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมช้างอาละวาด ช้างตกมัน เพื่อลดความสูญเสียต่อชุมชนและตัวช้างเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ ซึ่งในขณะนั้นทางโรงพยาบาลช้างกระบี่ ได้ก่อตั้งขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชประสงค์ให้ช้างเลี้ยงในพื้นที่ภาคใต้ได้รับการดูแลและการบริการสุขภาพช้างอย่างทั่วถึง นอกจากการให้การบริการสุขภาพช้างแล้ว ด้วยในขณะนั้นโรงพยาบาลช้างกระบี่ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนในพื้นที่ นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ จึงได้ทำงานเชิงรุกเพื่อให้คนในจังหวัดกระบี่และภาคใต้ตอนล่างรู้จักผ่านโครงการต่างๆ มากมาย จนทำให้โรงพยาบาลช้างกระบี่เป็นความภาคภูมิใจคนจังหวัดกระบี่และสนับสนุนกิจการงานต่างๆของโรงพยาบาลช้างกระบี่มาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560-2565 นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้มาทำงานในตำแหน่งสัตวแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านสุขภาพช้าง, สนับสนุนการทำงานวิจัยต่างๆ ที่ข้องเกี่ยวกับช้างของอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาของ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและหางบประมาณสนับสนุนการทำงานของศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่าฯ
ในปี พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ได้กลับมาทำงานในโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้อีกครั้ง โดยได้รับมอบหมายให้ทำงาน ด้านการประชาสัมพันธ์องค์กร การร่วมมือและประสานงานหน่วยงานต่างประเทศเพื่อพัฒนางานด้านวิชาการ การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตช้างไทย และเผยแพร่ความรู้ด้านการเลี้ยงช้างไทยในระดับนานาชาติ และอีกผลงานที่สำคัญ คือได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานการปฏิบัติงานเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์จากประเทศศรีลังกากลับมายังประเทศไทย ซึ่งได้รับมอบหมายงานและรับผิดชอบในส่วนสำคัญคือการวางแผนการเตรียมตัวช้าง ควบคุมการเคลื่อนย้ายภาคพื้นดินจากสวนสัตว์เดฮิวาลาไปยังสนามบินในกรุงโคลอมโบ และควบคุมขนย้ายช้างทางอากาศ จนสามารถเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมายังประเทศไทยด้วยความปลอดภัย ซึ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
       ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ ยังเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร ศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาตน พัฒนางาน และส่งเสริมองค์กรในการบูรณาการทางด้านวิชาการและวิชาชีพ จนเป็นผู้ที่ประสบผลสำเร็จทาง ด้านวิชาชีพ และทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยเกียรติประวัติอันทรงคุณค่า ผลงานที่ดี ถือเป็นผู้เหมาะสมในการเป็นศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566 เพื่อเป็นเกียรติสืบไป

ความประทับในต่อรางวัลที่ได้รับ
        ข้าพเจ้าฯมีความภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องใน“วันมหิดล” พ.ศ. 2566 ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยข้าพเจ้าฯเป็นผู้เคยได้รับทุน “หมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดการศึกษาในระดับปริญญาตรี อีกทั้งกองทุนนี้เป็นกองทุนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณแห่งองค์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกฯ ดังนั้นการได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องใน“วันมหิดล” นั้นจึงเป็นความภูมิใจสูงสุดของข้าพเจ้าฯ และเสมือนข้าพเจ้าฯได้ตอบแทนพระคุณต่อกองทุน “หมอเจ้าฟ้า” ซึ่งเป็นผู้มอบโอกาสให้ข้าพเจ้าฯ ได้รับโอกาสในการศึกษาและนำความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนมาประกอบสัมมาอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ช้างไทยซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศไทย รวมถึงนำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานตลอด 18 ปี แบ่งปันต่อประชาคมช้างโลก และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติในเรื่องการอนุรักษ์ช้าง

กิจกรรมเสริมหลักสูตร

    คณะสัตวแพทยศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรมหลักสูตร จึงสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพนักศึกษาทางด้านวิชาการ คุณภาพชีวิต การเรียนรู้นอกห้องเรียน และการทำงานร่วมกันในหมู่นักศึกษา กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมด้านจรรยาบรรณวิชาชีพ ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และกิจกรรมกีฬา เป็นต้น

ความร่วมมือกับต่างประเทศ

คณะสัตวแพทยศาสตร์มีความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กร และสถาบันต่างประเทศในหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านการศึกษา ฝึกอบรม และการวิจัย ดังนี้
1. โครงการร่วมจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมบริการทางวิชาการ
2. การแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยและองค์กรในต่างประเทศ อาทิ
    - College of Veterinary Medicine, Michigan State University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์จัดส่งนักศึกษา รุ่นละ 2 คน เข้าฝึกคลินิกปฏิบัติ เป็นระยะเวลาประมาณ 7 - 9 สัปดาห์
    - National Chung – Hsing University ประเทศไต้หวัน โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์จัดส่งนักศึกษา รุ่นละ 2 คน เข้าฝึกคลินิกปฏิบัติ เป็นระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์
    - Nippon Veterinary and Life Science University ประเทศญี่ปุ่น โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์จัดส่งนักศึกษา จำนวน 2 คน เข้าฝึกคลินิกปฏิบัติ เป็นระยะเวลาประมาณ 3 - 4 สัปดาห์
    - Utrecht Universiteit ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์จัดส่งนักศึกษา จำนวน 2 คน เข้าฝึกคลินิกปฏิบัติ เป็นระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์
    - Gadjah Mada University ประเทศอินโดนีเซีย โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์จัดส่งนักศึกษา รุ่นละ 2 คน เข้าฝึกคลินิกปฏิบัติ เป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยฝึกปฏิบัติทางด้านสัตว์เล็ก/สัตว์ป่า
3. โครงการเดินทางไปราชการเพื่อเสนอผลงาน ประชุม ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ

ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS

สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์
สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

เว็บไซต์ vmcmu.vet.cmu.ac.th
Facebook คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Instagram vetcmu.fam
โทรศัพท์ 053 - 948009
YouTube VET CMU

ดาวน์โหลด PDF:

ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด

คณะสัตวแพทยศาสตร์

  • ดาวน์โหลด PDF: ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด