คณะเทคนิคการแพทย์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปใช้ตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษา ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพของคนทุกช่วงวัย ตลอดจนถึงการให้บริการวิชาการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมการตรวจเพื่อช่วยวินิจฉัย ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิตของผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อให้ประชาชนในชุมชน-สังคมมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567
1) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
เป็นวิชาชีพที่ต้องกระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวอย่างทางการแพทย์ ตลอดจนการเก็บตัวอย่างอื่น ๆ เพื่อตรวจวิเคราะห์ วิจัยในห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม แปลผล อธิบายผล และรายงานผลการตรวจ ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจวิเคราะห์ การวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค การประเมินสุขภาวะ การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ
แนวทางในการประกอบวิชาชีพ เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร สามารถประกอบอาชีพเป็นนักเทคนิคการแพทย์ประจำห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เป็นนักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการ ผู้ประกอบการสถานพยาบาลเทคนิคการแพทย์ ผู้แทนฝ่ายขายและผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องมือ ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ งานด้านประกันสุขภาพ รวมทั้งสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเป็นอาจารย์ นักวิจัยในสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยชั้นนำ
2) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขากิจกรรมบำบัด
เป็นวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้บริการแก่ผู้รับบริการทุกช่วงวัย ซึ่งทำได้ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ประยุกต์และดัดแปลงกิจกรรมและบริบท-สิ่งแวดล้อมตามหลักวิชาการ ให้สามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพอย่างมีคุณค่าและความหมายโดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด
แนวทางการประกอบอาชีพ เมื่อผ่านการสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัด สามารถประกอบอาซีพเป็นนักกิจกรรมบำบัดในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลจิตเวช ศูนย์ฟื้นฟู สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ โรงเรียนทั่วไป โรงเรียนเด็กพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษ สถานดูแลเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ คลินิกกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ ชุมชน จัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางกิจกรรมบำบัด ผู้แทนฝ่ายขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้ รวมทั้งศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
3) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค
เป็นวิชาชีพทางการแพทย์ที่ใช้เครื่องมือทางรังสีและสารกัมมันตรังสีในการวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ การสร้างภาพตัดขวางแบบ 3 มิติ และการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ตนเองและผู้อื่นเพื่อให้การใช้รังสีทางการแพทย์มีประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางการประกอบอาชีพ ผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค สามารถสมัครสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค เพื่อทำงานเป็นนักรังสีเทคนิคในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือเป็นเจ้าของคลินิครังสีเทคนิค รวมทั้งทำงานวิจัยและกำกับดูแลด้านรังสีในสถาบันวิจัย นอกจากนี้ยังสามารถประกอบอาชีพจำหน่ายและฝึกอบรมการใช้อุปกรณ์ทางรังสี หรือศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับรังสีและนิวเคลียร์
4) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด
เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย และการบำบัดความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การป้องกัน การแก้ไขและการฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดหรือการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด
แนวทางการประกอบอาชีพ เมื่อผ่านการสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ดังนี้ คือ นักกายภาพบำบัด ในสถานพยาบาล ในภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานประกอบการของตนเอง นักกายภาพบำบัดทางด้านกีฬา ครูสาขากายภาพบำบัด ผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ นักวิจัย หรือศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา
5) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย
เปิดการเรียนการสอนในด้าน “แก้ไขการพูด”เป็นวิชาชีพที่มีหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัย แยกประเภทความผิดปกติ บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับภาษาและการพูด เช่น พัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด เสียงผิดปกติ ภาวะเสียการสื่อความ รวมไปถึงส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคแก่ผู้ที่มีความผิดปกติของการสื่อความหมายตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
แนวทางการประกอบอาชีพ เมื่อผ่านการสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมายแล้ว สามารถประกอบอาชีพเป็น “นักแก้ไขการพูด” ในสถานพยาบาลหรือศูนย์ฟื้นฟู เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ สถาบันพัฒนาการเด็ก สถานสงเคราะห์คนชรา ฯลฯ หรือทำงานในสถานศึกษา เช่น ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษา ฯลฯ เป็นนักแก้ไขการพูดอิสระ นักวิชาการ นักวิจัย หรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
ค่าเล่าเรียน
ค่าธรรมเนียมการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี ทุกหลักสูตรของคณะเทคนิคการแพทย์ (เริ่มใช้ปีการศึกษา 2567) ภาคการศึกษาละ 25,000 บาท
ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS
สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รางวัลที่ภาคภูมิใจ
>> นักศึกษาปัจจุบัน
"นักศึกษารังสีเทคนิค ชั้นปีที่ 4 ได้รับรางวัล Diamond Award ในงานประชุมวิชาการนักศึกษารังสีเทคนิค ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566"
นายกาณฑ์ นุ่นงาม รหัสประจำตัวนักศึกษา 621110177 และนางสาวพิมพ์พจี พงศ์สุขธน รหัสประจำตัวนักศึกษา 621110212 นักศึกษารังสีเทคนิค ชั้นปีที่ 4 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล Diamond Award ในการนำเสนอผลงานด้วยวาจา เรื่อง “Resolution Enhancement for MRI using Deep Learning Approach” โดยมี อาจารย์ ดร.อุเทน ยะราช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ในงานประชุมวิชาการนักศึกษารังสีเทคนิค ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 “3rd RT PCCMS Undergraduate Research Conference 2023” จัดโดย โรงเรียนรังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566
>> ศิษย์เก่าคณะเทคนิคการแพทย์
"รางวัลนักเทคนิคการแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2566 สาขาวิชาการ/วิจัย”
ศ.ดร.ทนพญ.ปรียานาถ วงศ์จันทร์ ศิษย์เก่าคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่่ ได้รับรางวัล “นักเทคนิคการแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2566 สาขาวิชาการ/วิจัย” จากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ โดยได้รับรางวัลในงานประชุมวิชาการประจำปีสมาคมเทคนิคการแพทย์ ครั้งที่ 45 (The 45th Annual Conference of The Association of Medical Technology of Thailand; ACMTT 2023) ณ ICON SIAM กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
110 ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 053-935075 086-4615682
เว็บไซต์ : www.ams.cmu.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/amscmu