Last update: 30 ก.ย. 2567 , 10:24

 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิสัยทัศน์ “Smart Agriculture towards Sustainable Development: ผู้นำทางวิชาการด้านเกษตรอัจฉริยะ เพื่อสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรมการเกษตรมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” มีความโดนเด่นและชำนาญการเรียนการสอน การวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์เกษตร และระบบเกษตรบนพื้นที่สูง เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยแบ่งการจัดการศึกษาออกเป็น 5 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ ภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ ภาควิชาเกษตรที่สูงและทรัพยากรธรรมชาติ

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2568

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์  

         เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ที่นำวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและยั่งยืน โดยสอนทักษะด้านพืชไร่ พืชสวน ปฐพีศาสตร์ กีฏวิทยา โรคพืช ส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร และเกษตรที่สูงและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งปลูกฝังจรรยาบรรณวิชาชีพและความรับผิดชอบต่อสังคม

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์

         เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ที่ประยุกต์วิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่มีคุณภาพและยั่งยืน สร้างบุคลากรมาตรฐานสากล มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อพัฒนาการผลิตปศุสัตว์และสัตว์น้ำของประเทศ  

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและธุรกิจเกษตร

         เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ซึ่งหลักสูตรนี้มุ่งผลิตบัณฑิตนักเศรษฐศาสตร์เกษตรที่เข้าใจบริบทการเกษตรเชิงธุรกิจและความยั่งยืน โดยมีทักษะการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และข้อมูลดิจิทัล เพื่อวางแผนและจัดการทรัพยากรการผลิตตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมทั้งมีคุณธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะและอาหาร (หลักสูตรพหุวิทยาการ)

          เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี โดยหลักสูตรนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่รวมศาสตร์การเกษตรยุคใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์เกษตร การเกษตรแม่นยำ วิศวกรรม และการตลาด เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับประเทศ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรที่สูงและทรัพยากรป่าไม้

           หลักสูตรนี้เน้นการศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรที่สูง ทรัพยากรป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พร้อมพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานในพื้นที่เฉพาะและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา 

รับเฉพาะแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์หรือเทียบเท่า

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์  

• ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร
• รับราชการ
• บริษัทเอกชน

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์

• วิชาชีพที่เกี่ยวกับการจัดการใด ๆ ต่อสัตวเลี้ยงและกระบวนการเพื่อการเลี้ยงปศุสัตว์และ/หรือสัตว์น้ำ การผลิตปศุสัตว์และ/หรือสัตว์น้ำ การปรับปรุงบํารุงพันธุ์สัตว์ เทคโนโลยีการขยายพันธุ์และการกำเนิดสัตว์ การประกวดปศุสัตว์และ/หรือสัตว์น้ำ การจัดการด้านอาหารและโภชนศาสตรสัตว์ การจัดการผลิตผลและผลิตภัณฑสัตว์และให้รวมถึงการจัดการด้านต่าง ๆ ที่มีผลทำให้สัตว์แข็งแรงสมบูรณและให้ผลผลิต
• ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือทำงานกับเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปศุสัตว์และ/หรือสัตว์น้ำ
• นักวิชาการสัตวบาลประจำฟาร์ม นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัย พนักงานส่งเสริมด้านสัตวบาล/สัตวศาสตร์/สัตว์น้ำ ครู อาจารย์ นักวิชาการที่รับผิดชอบงานด้านการผลิต ปศุสัตว์และ/หรือสัตว์น้ำ ในหน่วยงานของราชการ สถาบันการศึกษา
• ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ในสาขานี้หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและธุรกิจเกษตร 

• ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (entrepreneur)
• เศรษฐกร (economist)
• นักวิจัย (researcher)
• นักวิเคราะห์นโยบาย (policy analyst)
• นักการตลาดเกษตร (agricultural marketer)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะและอาหาร (หลักสูตรพหุวิทยาการ)

อาชีพรอง
• ผู้ประกอบการเกษตร/อาหาร
• ผู้ประกอบการเครื่องจักรกล
• ผู้ประกอบการเกษตรเชิงธุรกิจ
• พนักงานบริษัท
• พนักงานรัฐวิสาหกิจ
• พนักงานหน่วยงานรัฐ
อาชีพรอง
• สื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์
• ที่ปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจการเกษตร
• ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์
• นักการจัดการตลาดดิจิทัล
• อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรที่สูงและทรัพยากรป่าไม้

อาชีพหลัก
• นักวิชาการเกษตร
• นักวิชาการป่าไม้
• นักพัฒนาโครงการและตรวจสอบทวนสอบ
• นักวิจัย ครู อาจารย์
• ผู้ประกอบการ
อาชีพรอง
• นักวิชาการคอมพิวเตอร์
• นักวิชาการภูมิศาสตร์
• นักวิชาการส่งเสริม

ค่าเล่าเรียน

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและธุรกิจเกษตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรที่สูงและทรัพยากรป่าไม้
ค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบเหมาจ่าย  ภาคการศึกษาละ 16,000 บาท

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะและอาหาร (หลักสูตรพหุวิทยาการ)
ค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบเหมาจ่าย ภาคการศึกษาละ 23,000 บาท

ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS

         สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์         
         สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องเล่าจากตัวแทนรุ่นพี่

สวัสดีครับ ผมชื่อ จิรายุทธ ภูวพูนผล ชื่อเล่น โจ้ อายุ 32 ปี เกษตร มช.รุ่น 44 รหัสนักศึกษา 500810111 สำหรับผมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคณะเกษตรศาสตร์ มช. นั้น น่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อผมอยู่ ม.5 ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งผมได้มีโอกาสมาทัศนศึกษา ได้เจอท่าน ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังสี ได้แนะนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่น่าจะทำให้เราสร้างอาชีพนี้ได้ในอนาคต จึงตัดสินใจสอบโควตาเข้าเรียนที่คณะเกษตรศาสตร์ มช. และก็ได้เข้าเรียนที่คณะนี้ โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ได้เล่าเรียนอยู่ที่นี่ ก็ได้สร้างความผูกพัน ความทรงจำและความประทับใจให้ผมมากมายเกินกว่าจะอธิบายได้หมด แต่ผมจะขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ เผื่อน้องรุ่นใหม่ ๆ สนใจอยากจะเข้ามาศึกษาในที่แห่งนี้
ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าไปที่เกษตร มช. ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกิจกรรมรับน้อง การเต้น การร้องเพลง การเล่นกีฬา และสุดท้าย คือ การเรียน เราชอบอยู่กับเพื่อน ๆ เลยชอบทำกิจกรรมที่คณะจัดไว้ให้ ซึ่งผมเข้าชมรมวอลเล่ย์บอล ซ้อมวันละ 6-8 ชม. หลาย ๆ คืนที่เราสลับกับเพื่อน ๆ นอนเฝ้าสนาม เพราะสนามมีน้อยมาก นอนบนพื้นปูน มีหมอนกับผ้าห่ม นอนดูดาว ก็สนุกดีครับ แต่ละวันก็เข้าเรียนบ้าง โดดเรียนบ้าง โชคดีหน่อยที่เวลาเข้าเรียนก็เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอนมากพอสมควร ผ่านไป 2 เดือน มีกิจกรรมรับน้องขึ้นดอยสุเทพ ก็เดินบ้าง วิ่งบ้าง ร้องเพลงบ้าง แบกเพื่อนบ้าง มีรุ่นพี่ที่จบไปแล้วขับรถร้องเพลงกล่อมตลอดทาง เราก็สามารถเดินไหวทั้งขาขึ้นและขาลง ตอนปี 1 มีงาน 4 จอบแห่งชาติ เราในฐานะเด็กปี 1 ก็ต้องเอาแรงช่วยคณะ โดนจัดไปเป็นคนแบกเสลี่ยงของโชว์ คณะเกษตร มช. ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่มาก และเป็นครั้งแรกของชีวิตที่ได้อยู่ในหนึ่งของมหกรรมงานแสดงโชว์ครับ เราร่วมหลายกิจกรรมอื่น ๆ กับเพื่อน ๆ ในรุ่น จนพวกเราสะสมตัวอักษร SOTUS ได้ครบ และได้รับเป็นน้องคณะเกษตร มช. แบบเต็มตัว ซึ่งอาศัยระยะเวลายาวนานนับเกือบปี ถือเป็นรุ่นที่รับน้องนานมาก ๆ แต่ก็สนุกดีครับ สำหรับการเรียนเราก็ยังมุ่งมั่นเสมอไม่ได้ทิ้ง เสียอย่างเดียวคือ บางทีร่างกายไม่ไหวก็ขาดเรียนไปเลย จนกระทั่งได้เลือกเรียนสาขาวิชาพืชสวน ตอนนั้นอาจารย์พาไปดูงานด้านการเกษตรในที่ต่าง ๆ มากมาย เราก็ได้ศึกษาและเก็บเกี่ยวความรู้เผื่อว่า วันนึงเราจะนำไปประกอบอาชีพได้ โครงการหลวงหนองหอยเป็นที่ที่ชอบมาก ๆ ไปดูงานปลูกพืชผักบ่อยมาก ๆ จนถึงปี 4 ได้มางาน 4 จอบที่ลาดกระบัง พวกเรานั่งรถไฟมากันเป็นคณะ จำได้ว่าทั้งร้อง ทั้งดื่ม สนุกสนานกันมาก ๆ ตอนอยู่บนรถไฟ ผมเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะประธานสโมสรฝ่ายกีฬา อีกส่วนนึงที่เพื่อน ๆ มอบหมายให้เป็นประธานชมรมพืชสวน ผมได้ชวนเพื่อน ๆ ปลูกผักนอกเวลาเรียน หารายได้พิเศษ และพวกเราก็ได้เงินมาก้อนนึงและเงินส่วนตัวของทุกคนส่วนนึง เราพากันไปทัศนศึกษาตั้งแต่สุพรรณบุรีไปจนถึงชุมพร ตลอดทริปนี้พวกเราทั้งสนุกสนาน ได้ความรู้ และสร้างความผูกพันกับเพื่อน ๆ ที่สำคัญได้ไปปาร์ตี้ริมทะเลกับเพื่อน ๆ ก่อนที่จะเรียนจบ
ผมเรียนจบที่เกรดเฉลี่ย 3.76 เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง จริง ๆ แล้วอย่างที่บอก 70% ผมทำกิจกรรมกับคณะ เคล็ดลับของผม คือ เวลาเข้าเรียนต้องเข้าใจและช่วงก่อนสอบ 7 วัน ผมจะงดกิจกรรมและตั้งใจอ่านหนังสือให้ครบทุกวิชาที่จะสอบ หลังจากเรียนจบผมก็สานฝันที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่ ม.5 คือ หุ้นกับเพื่อนรักอีก 2 คน ชื่อ อู๋กับต้อง เริ่มทำสวนผักสลัดเล็ก ๆ บนพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อปี 2554 ล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูก พยายามเพิ่มมูลค่าของผักที่เราปลูก จนได้เปิดร้านคาเฟ่เล็กหน้าสวน ชื่อร้าน สวนผัก โอ้กะจู๋ ใช้ไม้เก่ามาทำเป็นอาคารนั่งทานสลัด มีที่นั่งประมาณ 20 ที่นั่ง ค่อยปรับ ค่อย ๆ พัฒนา มาตลอดระยะเวลา 10 ปี จนปัจจุบัน เราขยายสาขาทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพ จำนวน 18 สาขา
ต้องขอขอบคุณคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอบคุณคณาจารย์ ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ให้ความรู้และโอกาสต่าง ๆ ให้เราได้ฝึกฝนประสบการณ์ตั้งแต่สมัยเรียนครับ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200       
E-mail : eduagricmu@gmail.com
โทรศัพท์ : 053-944641-4 ต่อ 111-114     
โทรสาร : 053-944666     
เว็บไซต์ : www.agri.cmu.ac.th
Facebook : www.facebook.com/PrAgricultureCMU
Line: @agricmu

Twitter : @agricmu (เกษตร มช.)

ดาวน์โหลด PDF:

ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด

คณะเกษตรศาสตร์

  • ดาวน์โหลด PDF: ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด