Last update: 4 ส.ค. 2566 , 10:28

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
     หลักสูตร 4 ปี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ มนุษย์อิ๊งค์ มช เราไม่ได้เรียนแค่ภาษาแต่หลักสูตรของเราคือการบูรณาการ ระหว่างการศึกษาในเชิงภาษาศาสตร์วรรณคดี และวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะทางภาษา ในการฟัง พูด อ่าน เขียน และแปล บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม ฯญเพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21
    เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ หรือเทียบเท่า

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
          หลักสูตร 4 ปี มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการคิดวิเคราะห์ การจัดการสารสนเทศ ทั้งในรูปแบบทรัพยากรเดิมและทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้บัณฑิตสามารถประยุกต์ศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับบรรณารักษศาสตร์ รวมถึงด้านการจัดการสารสนเทศที่มีความทันสมัย ครอบคลุมทั้งด้านการบริหาร การบริการ และการจัดการทรัพยากรสารสนเทศการศึกษาในหลักสูตร สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา แบ่งออกเป็น 2 แขนงวิชา คือ 1. การจัดการสารสนเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและ ภาคปฏิบัติในการจัดการและบริการสารสนเทศเพื่อสนองต่อองค์กรด้านห้องสมุด 2. การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ในภาคทฤษฎีและ ภาคปฏิบัติในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสามารถประยุกต์ในการจัดการ และบริการสารสนเทศเพื่อ สนองต่อองค์กรด้านศูนย์สารสนเทศ นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ 1 แขนงวิชาในชั้นปีที่ 3 และเมื่อจบการศึกษาชื่อปริญญาที่ได้รับ คือ ศิลปศาสตรบัณฑิต (สารสนเทศศึกษา
    เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ หรือเทียบเท่า

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา
          หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกจิตวิทยา
เป็นหลักสูตร 4 ปี โดยผลิตบัณฑิต 2 กลุ่มวิชาเอก คือ
1. กลุ่มวิชาจิตวิทยาคลินิก เน้นศึกษาเพื่อทำความเข้าใจศักยภาพและพยาธิสภาพของผู้รับบริการ โดยการตรวจวินิจฉัยพยาธิสภาพทางจิต พยาธิสภาพทางสมอง เชาวน์ปัญญา บุคลิกภาพ อารมณ์ รวมถึงเรียนรู้เทคนิคการบำบัดทางคลินิกเพื่อฟื้นฟู ส่งเสริม และป้องกันปัญหาสุขภาพจิต อารมณ์ พฤติกรรม ความผิดปกติทางจิต และมุ่งเตรียมความพร้อมบัณฑิตสู่การประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก
2. กลุ่มวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ เน้นศึกษาเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ โดยนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ ได้แก่ การตรวจประเมินทางจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเพื่อการสรรหา คัดเลือกบุคลากร การธำรงรักษา และการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากรในองค์การ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพขององค์การ
         เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์ สายศิลป์


หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
          หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส เป็นหลักสูตร 4 ปี ภาคปกติ จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 135 หน่วยกิต หลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทางวิชาการตามมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งทำให้บทบาทของภาษาต่างประเทศทวีความสำคัญขึ้นอย่างเด่นชัดในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่บริบทโลก หลักสูตรภาษาฝรั่งเศสได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัย เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างขวางรอบด้านและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
         เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ – ภาษาฝรั่งเศส


หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมพม่า
          หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมพม่า เป็นหลักสูตร 4 ปี จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตรรวมแล้วไม่น้อยกว่า 137 หน่วยกิต มีลักษณะเป็นหลักสูตรร่วม (Joint Program) ร่วมกับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (University of Yangon) ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในภาคเรียนที่ 1 ชั้นปีที่ 4 นักศึกษาวิชาเอก สามารถเลือกไปเรียนภาษาและวัฒนธรรมที่พม่าที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง หรือไปสหกิจศึกษาในสถานประกอบการณ์ต่าง ๆ เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา
หลักสูตรมุ่งให้นักศึกษามีความพร้อมด้านศักยภาพทางภาษา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมพม่า มุ่งพัฒนาให้มีความรู้คู่คุณธรรม สามารถนำศักยภาพด้านภาษาและสังคมวัฒนธรรมไปใช้ประโยชน์ในการทำงานและทำประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง สร้างเจตคติที่ดีต่อกัน
        เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์ สายศิลป์ หรือเทียบเท่า



หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบ้านและชุมชน
         
หหลักสูตร 4 ปี มุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้กระบวนวิชาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการและพื้นที่ภาคสนาม ให้สามารถประยุกต์ใช้ศาสตร์บ้านและชุมชนที่บูรณาการความรู้ในบ้าน ทั้งด้านอาหาร-โภชนาการ ด้านการดูแลบ้านและคนในครอบครัว ด้านศิลปะประยุกต์ ร่วมกับความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรในชุมชน นำไปสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดการชุมชน สังคม ในมิติต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักสูตรบ้านและชุมชนเป็นหลักสูตรสหกิจศึกษา ทำให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริง และนักศึกษาสามารถเลือกเรียนความรู้เฉพาะด้านเพื่อความลุ่มลึกในวิชาเอกเลือก เช่น กลุ่มวิชาด้านอาหารโภชนาการ กลุ่มวิชาศิลปสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ และกลุ่มวิชาการจัดการและพัฒนาทรัพยากรชุมชน
       เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์ สายศิลป์ หรือเทียบเท่า


หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยว (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
         หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม เปิดรับนักศึกษาทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ โดยภาคปกติจะเรียนในวันและเวลาราชการ ส่วนภาคพิเศษจะเรียนในวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป และวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 09.00 น.
หลักสูตรฯได้บรรจุวิชาต่างๆที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบวิชาชีพทางด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม สายการบิน และงานอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการบริการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ หลักสูตรฯยังมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่สร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นก่อนจบหลักสูตรผู้เรียนจะต้องฝึกสหกิจศึกษาในสถานประกอบการในธุรกิจภาคบริการในภาคเรียนสุดท้ายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์ สายศิลป์ หรือเทียบเท่า


หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
          หลักสูตร 4 ปีที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่หลากหลายแต่ยังคงไว้ซึ่งความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในทักษะมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะการสื่อสาร ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองจะช่วยพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้และมีทักษะที่รอบด้าน และสามารถแสวงหาความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้ดี และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางความคิดและทางวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และมีคุณธรรมและจริยธรรม 
โดยแบ่งออกเป็น 8 วิชาเอก ดังนี้
1. วิชาเอกภาษาไทย

     หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย เป็นหลักสูตร 4 ปี มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศด้านภาษาไทย ทักษะทางภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย ตลอดจนส่งเสริมให้บัณฑิตมีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ โดยกำหนดให้เลือกเรียนกระบวนวิชาภาษาต่างประเทศอีก 1 ภาษา เพื่อให้บัณฑิตของสาขามีความสามารถด้านการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
      เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์ สายศิลป์ หรือเทียบเท่า

2. วิชาเอกภาษาจีน

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีน เป็นหลักสูตร 4 ปี มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับภาษาจีน วรรณกรรมจีน และจีนศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลรวมทั้งสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ตลอดจนตอบสนองต่อการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

     เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ – ภาษาจีน หรือเทียบเท่า

3. วิชาเอกภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น

    หลักสูตร 4 ปี เป็นการจัดการเรียนการสอน โดยมีเนื้อหาวิชาที่เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของอาชีพสากลทัดเทียมนานาชาติ ทั้งด้านความรู้พื้นฐาน ความรู้เสริมทักษะ ความรู้ทางธุรกิจ การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามสังคมและวัฒนธรรม โดยนักศึกษาสามารถเลือกเรียนทางด้านภาษา วรรณคดีและญี่ปุ่นศึกษา ตามความถนัดและตรงตามเป้าหมายในการเรียนมากที่สุด เพื่อให้เชี่ยวชาญนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
     เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ – ภาษาญี่ปุ่น หรือเทียบเท่า

4. วิชาเอกภาษาและวัฒนธรรมอินเดีย

     หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกภาษาและวัฒนธรรมอินเดีย (หลักสูตร 4 ปี) นี้เป็นหลักสูตรที่เรียนรู้เกี่ยวกับอินเดียในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะมิติทางด้านภาษาของคนอินเดียในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะทางด้านการสื่อสารผสมผสานองค์ความรู้ ความเข้าใจที่รอบด้านเกี่ยวกับอินเดียที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลก เป็นการรองรับและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก สร้างความเป็นพลเมืองโลก
      เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ สายวิทย์ หรือเทียบเท่า ใช้คะแนน A-Level ภาษาบาลี ด้วย

5. วิชาเอกภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี

หลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถครอบคลุมทั้งด้านภาษาเกาหลี วัฒนธรรม วรรณคดี การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ โดยมีคณาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวเกาหลีคอยสนับสนุนการเรียนรู้อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมความรู้นอกห้องเรียนที่หลากหลาย เพื่อให้บัณฑิตสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต
       เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ สายวิทย์ หรือเทียบเท่า เทียบเท่า ใช้คะแนน A-Level ภาษาเกาหลี ด้วย

6. วิชาเอกภาษาและวัฒนธรรมเยอรมัน

       หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันเป็นหลักสูตร 4 ปี ที่มุ่งพัฒนาทักษะการสื่อสารทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับการเรียนรู้ในมิติอื่น ๆ ทั้งผู้คน สังคม และวัฒนธรรมของเยอรมัน เข้าใจวัฒนธรรมอันแตกต่างในองค์กรและการทำงานในองค์การอย่างสร้างสรรค์ในองค์กร
       เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 (ไม่จำเป็นต้อนมีพื้นฐานภาษาเยอรมัน)

7. วิชาเอกประวัติศาสตร์

       หลักสูตร 4 ปี ศึกษาเนื้อหาประวัติศาสตร์ภูมิภาคต่างๆของไทย อาเซียน โลกตะวันตกและตะวันออก ทำความเข้าใจแนวพินิจทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) แบบต่างและทฤษฏีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์ที่นักศึกษาสามารถเลือกสรรมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาประเด็นที่นักศึกษาแต่ละคนสนใจและฝึกฝนกระบวนการทำวิจัยทางประวัติศาสตร์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การตั้งคำถามทางวิชาการ การวิพากย์หลักฐานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ การใช้วิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์ในการวิเคราะห์และสังเคราะข้อมูล เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีพลังสูง ในการอธิบาย เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีศักยภาพสูงในการจัดการข้อมูล การคิดอย่างเชื่อมโยงและสามารถคิดเองเป็น
       เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6

8. วิชาเอกปรัชญา

         หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา เป็นหลักสูตร 4 ปี มุ่งสร้างและพัฒนาความสามารถเชิงปรัชญาที่ลุ่มลึก ให้คนเป็นมนุษย์ที่่สมบูรณ์ รู้จักตนเอง เข้าใจสังคมและโลก กอปรด้วยวิสัยทัศน์และระบบคุณค่าที่เอื้อต่อการเกิดทักษะและปัญญาที่กํากับด้วยคุณธรรม
       เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
          หลักสูตร 4 ปี ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาไทยเพื่อการติดต่อสื่อสารทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ภาษาไทยได้ มีทักษะในการบูรณาการความรู้ภาษาไทย ทักษะชีวิต และทักษะทางสังคม มีความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทย พร้อมที่จะเป็นทูตทางสังคมและวัฒนธรรมไทยให้กับประเทศไทย
           เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 /Grade 12/ วุฒิGED หรือเทียบเท่า

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามนุษยศาสตร์และความยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ)
          หลักสูตร 4 ปี ที่นำเอาความรู้และทักษะที่โดดเด่น ก้าวหน้า และสามารถประยุกต์ใช้เพื่อส่งผลทางเศรษฐกิจในสาขาวิชาต่าง ๆ ของมนุษยศาสตร์ มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อฝึกฝนบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีทักษะอันหลากหลาย สามารถเลือกใช้และริเริ่มสร้างนวัตกรรมทางความคิดที่เหมาะสมกับความท้าทายทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และยั่งยืน มีความเข้าใจวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันซับซ้อนของสังคมโลก สามารถทำงานร่วมกันหรือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญให้กับสายอาชีพและองค์กรภาคธุรกิจอันหลากหลาย และเป็นผู้ที่เข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีผลต่อความมั่นคงของสังคมและสิ่งแวดล้อม
        เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา ชาวไทย และชาวต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 6/ Grade 12/ วุฒิGED หรือเทียบเท่า

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?

อาชีพสำหรับวิชาเอกด้านภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาและวัฒนธรรมเยอรมัน ภาษาและวัฒนธรรมอินเดีย และ ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี
   - นักแปลภาษา ล่าม นักแปลข้อมูล นักอักษรศาสตร์ นักบรรณาธิการ
   - นักการทูต และนักวิเทศสัมพันธ์
   - ครู อาจารย์ ด้านภาษา
   - นักวิจัยด้านภาษา

อาชีพสำหรับวิชาเอกประวัติศาสตร์ และวิชาเอกปรัชญา
   - ครู อาจารย์ ด้านสังคมศึกษา หรือ มนุษยศาสตร์
   - นักวิจัยด้านสังคมศึกษา หรือ มนุษยศาสตร์
   - นักหอจดหมายเหตุ
   - นักโบราณคดี

อาชีพสำหรับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ  สาขาวิชาการท่องเที่ยว สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมพม่า สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส สาขาวิชาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชามนุษยศาสตร์และความยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ) 
   - นักแปล ล่าม นักเขียน นักข่าว
   - มัคคุเทศก์ พนักงานต้อนรับสายการบิน พนักงานของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว
   - ผู้ประสานงานโครงการ
   - นักการทูต เจ้าหน้าที่กงสุล ครู อาจารย์ นักวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรม
   - นักวิชาการและนักวางแผนนโยบาย ธุรกิจ MICE
   - งานเอกสารและพัฒนาบุคคล
   - พนักงานในองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
   - งานธุรการ สารบรรณ เลขานุการ งานด้านการเขียนทั้งบันเทิงคดีและสารคดี

อาชีพสำหรับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
   - บรรณารักษ์ นักเอกสารสนเทศ
   - นักสารสนเทศ ผู้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
   - ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์
   - นักสารสนเทศและการทำฐานข้อมูล และที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดระบบสารสนเทศ

อาชีพสำหรับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบ้านและชุมชน
   - นักโภชนาการชุมชน นักพัฒนาชุมชน
   - นักโภชนาการชุมชน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
   - นักสันทนาการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม เจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์
   - ผู้ผลิตและบริการด้านอาหารในอุตสาหกรรมบริการอาหาร เช่น นักพัฒนาตำรับและรายการอาหาร นักจัดและบริการอาหารปริมาณมาก (ธุรกิจจัดเลี้ยง; Catering service) ผู้ช่วยเชฟ นักจัดตกแต่งอาหาร
   - ผู้ผลิตและบริการอาหารในโรงพยาบาล
   - นักโภชนาการประจำโรงเรียน
   - ศูนย์บริการสุขภาพ ผู้ให้คำแนะนำด้านอาหารและสุขภาพ  นักออกแบบการจัดงานต่าง ๆ (Event organizer, Wedding planner)  นักจัดดอกไม้
   - ประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดดอกไม้ ธุรกิจเสื้อผ้า ธุรกิจการจัดการบ้านเรือน ผู้ประกอบการเพื่อสังคม

อาชีพสำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา
          1. สาขาจิตวิทยาคลินิก : นักจิตวิทยา และนักจิตวิทยาคลินิก ในโรงพยาบาลต่างๆ เช่น
- กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เวชศาสตร์การบิน ทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศ
- ศาลประจำจังหวัด สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศาลเด็กและเยาวชนและครอบครัว เรือนจำ ทัณฑสถาน ของกระทรวงยุติธรรม
- นักจิตวิทยาโรงเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ
- ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- คลินิกส่วนตัว กรณีมีใบประกอบโรคศิลปะ
          2. สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ :
- เจ้าหน้าที่ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ในองค์การต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน
- เจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาองค์การของหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน
- ที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาองค์การและทรัพยากรมนุษย์ในองค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน – เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค

ค่าเล่าเรียน

หลักสูตรภาคปกติ แบบเหมาจ่าย ภาคการศึกษาละ 15,000 บาท
หลักสูตรภาคพิเศษ แบบเหมาจ่าย (สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม) ภาคการศึกษาละ 28,000 บาท
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตรเหมาจ่าย ภาคการศึกษาละ 55,000 บาท
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามนุษยศาสตร์และความยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตรเหมาจ่าย นักศึกษาไทย ภาคการศึกษาละ 35,000 บาท นักศึกษาต่างชาติ ภาคการศึกษาละ 55,000 บาท
ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2566

 

เรื่องราวของศิษย์เก่า



ชื่อ-นามสกุล : นางสาวศลิษา ลิ่มสกุล
สาขา/คณะที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์
ความสำเร็จที่ได้รับ : ได้ทำงานตรงตามสาขาที่เรียนมา
เส้นทางการทำงาน :
- เมษายน 2545 : นักศึกษาฝึกงาน บริษัท มิชลินสยาม จำกัด จ. สระบุรี
- มกราคม 2548 - กันยายน 2562 : เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และการอุดมศึกษา สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
- ตุลาคม 2562 - ธันวาคม 2565 : ผู้ช่วยที่ปรึกษาทูตฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
- กรกฎาคม 2566 - ปัจจุบัน : เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส
ความประทับใจที่มีต่อสาขา : ชีวิตการเรียนที่สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นช่วงเวลาที่มีค่าช่วงหนึ่งในชีวิต ตลอดระยะเวลาที่ได้เรียนที่นี่ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงชั้นปีที่ 4 ได้รับการอบรมสั่งสอนจากคณาจารย์ทุกท่านเป็นอย่างดี ไม่เพียงแค่ความรู้ทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาที่อาจารย์ทุกท่านมอบให้เท่านั้น แต่รวมถึงความรู้ความเข้าใจในสังคม และวิธีใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข นอกจากนี้ สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสยังมีบรรยากาศที่อบอุ่น เพื่อนๆ ร่วมชั้น รวมถึงรุ่นพี่และรุ่นน้องในสาขาวิชาต่างก็หยิบยื่นมิตรภาพให้กันและคอยให้ความช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี
เรียนสาขาแล้วไปต่อยอดในอาชีพได้อย่างไร : ความรู้ภาษาฝรั่งเศสที่ได้จากสาขาวิชา นับตั้งแต่ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ไปจนถึงการนำทักษะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในทางอื่นๆ คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ได้มีโอกาสได้ทำงานในสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เพราะเป็นงานที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักในการทำงาน และเนื่องจากต้องติดต่อประสานงานกับชาวฝรั่งเศส การมีความรู้พื้นฐานที่แน่น ประกอบกับการได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ ตลอดเวลาที่สาขาวิชา ส่งผลให้การ ทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น

เรื่องเล่าจากตัวแทนรุ่นพี่ในคณะ/วิทยาลัย 

1. ชื่อ นส. ภัทรวดี บางขุนทด นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เนื่องจากดิฉันเป็นเด็กต่างจังหวัด ภูมิลำเนาห่างไกลจากจังหวัดเชียงใหม่ การมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเปรียบเสมือนการห่างไกลจากครอบครัวครั้งแรกในชีวิต ในช่วงแรกของชีวิตมหาวิทยาลัย ดิฉันรู้สึกกังวลใจในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพความเป็นอยู่ การเรียน และสังคมในสาขาจิตวิทยา แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัส ทั้งจากการทำกิจกรรมร่วมกันและการเรียน ทำให้ดิฉันรู้สึกประทับใจในสาขานี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม สาขาจิตวิทยามีการคำนึงถึงความสมัครใจและความสบายใจของนักศึกษามาก่อนเสมอ ไม่มีการบังคับ ถ้าไม่สบายใจสามารถแจ้งเพื่อน รุ่นพี่และอาจารย์ได้
ในสาขาจิตวิทยามีการช่วยเหลือกันทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำแบบสอบถาม การส่งสรุปวิชาเรียนจากรุ่นพี่ เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คืออาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาใจดีและเป็นกันเองกับนักศึกษามาก ในเรื่องการเรียนการสอน อาจารย์มีสไตล์การสอนที่แตกต่างกัน แต่จะสอนแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เด็กที่มาจากหลายหลายแผนการเรียนสามารถตามเนื้อหาไปพร้อมๆกันได้ หากไม่เข้าใจตรงส่วนไหนสามารถสอบถามอาจารย์ประจำวิชาได้เสมอ อีกทั้งอาจารย์ยังรับฟังนักศึกษา เข้าใจไม่ตัดสิน และภาควิชาจิตวิทยามีบ้านหลังที่สอง เปรียบเสมือนที่พักใจของนักศึกษา หากมีเรื่องไม่สบายใจสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาจากบ้านหลังที่สองได้เสมอ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ดิฉันรู้สึกสบายใจกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยและเรียนได้อย่างมีความสุข

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

งานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 
โทรศัพท์ : 053-943274, 053-943215, 053-943296
เว็บไซต์ : www.human.cmu.ac.th
Facebook : Faculty of Humanities, Chiangmai University (@humancmu)
Facebookงานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา (@AcademicHumanCMU)

ดาวน์โหลด PDF:

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารหลักสูตร หรือ TCAS ของคณะ