Last update: 12 ธ.ค. 2566 , 10:49

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
          เป็นสาขาวิชาที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น การแปรรูปผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม นมและผลิตภัณฑ์จากนม จุลชีววิทยาในอาหาร เคมีอาหาร การวิเคราะห์อาหารและการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอาหารระหว่างการเก็บรักษา
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์หรือเทียบเท่า

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร
          เป็นสาขาวิชาที่มีการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำสิ่งมีชีวิตทั้งจุลินทรีย์ พืช และสัตว์ ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น อาหาร กระดาษ สิ่งทอ เครื่องหนัง เครื่องสำอาง และการแพทย์ เป็นต้น รวมทั้งการจัดการและเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและอุตสาหกรรม กระบวนการหมัก การออกแบบโรงงาน และการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตโดยกระบวนการทางพันธุศาสตร์
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์หรือเทียบเท่า

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมกระบวนการอาหาร
          เป็นสาขาวิชาที่จะได้เรียนวิชาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ด้วยกระบวนการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัย รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์หรือเทียบเท่า

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
          เป็นสาขาวิชาที่ใช้ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีการประยุกต์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมทางด้านอาหาร การทดสอบทางประสาทสัมผัสและการทดสอบผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรเชิงระบบ เพื่อสร้างนวัตกรรมอาหาร
 >>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์หรือเทียบเท่า

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ
         เป็นสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนในด้านวัสดุศาสตร์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ทางชีวภาพ กระบวนการผลิตวัสดุ และบรรจุภัณฑ์ การทดสอบและการเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อปกป้องและรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านวัสดุศาสตร์ที่ทันสมัย เช่น บรรจุภัณฑ์ฉลาด บรรจุภัณฑ์แอคทีฟ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบกราฟิกบรรจุภัณฑ์
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์หรือเทียบเท่า

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเล
          เป็นสาขาที่นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร เทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการด้านผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มายกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน โดยเน้นการสร้างทักษะขั้นสูงจากการฝึกปฏิบัติหรือประสบการณ์จริงที่ได้ จากการฝึกปฏิบัติสหกิจศึกษา ทำงานวิจัย หรือออกแบบธุรกิจจำลอง เพื่อเป็นนวัตกร นักวิจัย และผู้ประกอบการอาหารทะเล เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสู่ภาคธุรกิจ สนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารและใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตอาหารทะเลอย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์หรือเทียบเท่า

Bachelor of Science Program in Food Science and Technology (International Program)
        Bachelor of Science Program in Food Science and Technology Program (International Program) aims to produce graduates have basic knowledge of theory, and practical skills in the Food Science and Technology which can bring various technologies and innovations to be applied in the food production process to ensure quality and safety by conducting a cooperation agreement with the Deakin University, Australia to create a project for the international program of two degrees (Bachelor of Nutrition Science) to the creation of new technologies and solving problems in the country’s industrial sector. Create a network of cooperation between countries in various fields in the future.

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร 

  • งานฝ่ายควบคุมและประกันคุณภาพ (QC,QA)
  • งานขาย
  • งานจัดซื้อ
  • งานฝ่ายผลิต
  • งานฝ่ายระบบคุณภาพ (QS) 
  • งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D)

สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร

  • งานด้านอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
  • งานด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  • งานด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารแห่งอนาคต

สาขาวิชาวิศวกรรมกระบวนการอาหาร 

  • นักวิทยาศาสตร์
  • วิศวกร
  • ผู้จัดการโรงงาน
  • อาจารย์มหาวิทยาลัย

สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์

  • นักสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร
  • นักวิจัยและพัฒนาในองค์กรของรัฐฯ
  • ธุรกิจส่วนตัว

สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ

  • ฝ่ายพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์
  • นักวิชาการ
  • นักออกแบบบรรจุภัณฑ์
  • ธุรกิจส่วนตัว
  • ผู้ตรวจประเมิน
  • ที่ปรึกษาบริษัท

สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเล

  • งานด้านอุตสาหกรรม
  • นักวิจัยพัฒนา
  • ธุรกิจส่วนตัว

ค่าเล่าเรียน

ภาคปกติ    ภาคการศึกษาละ 20,000 บาท    ภาคฤดูร้อน 10,000 บาท
   - สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
   - สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร
   - สาขาวิชาวิศวกรรมกระบวนการอาหาร
   - สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
   - สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ

ภาคปกติ    ภาคการศึกษาละ 26,000 บาท    ภาคฤดูร้อน 13,000 บาท
   - สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเล

ภาคปกติ (นานาชาติ)
   สำหรับนักศึกษาสัญชาติไทยและนักศึกษาไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ภาคการศึกษาละ 40,000 บาท    ภาคฤดูร้อน 20,000 บาท
   สำหรับนักศึกษาสัญชาติอื่น (ชาวต่างชาติ)
ภาคการศึกษาละ 60,000 บาท    ภาคฤดูร้อน 30,000 บาท
   - สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ)

ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2566

รางวัลที่คณะได้รับ/จุดเด่นของคณะ

  • นักศึกษา อก. มช. คว้ารางวัลในงานประกวด International Creative Video Competition 2023 “Green Coffee Production Bases On Circular Economic” นายภูวรินทร์ อุตรศรี นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัล 3rd runner up winner โดยได้รับเงินรางวัล 80$ ในการส่งประกวดวิดีโอ ในหัวข้อ Coffee waste management for zero waste งานประกวด International creative video competition 2023 “Green coffee production bases on circular economic” จากมหาวิทยาลัย Warmadewa University ประเทศอินโดนิเซีย

  • ทีม อก.มช. คว้า 3 รางวัลใหญ่ จากการแข่งขัน FoSTAT Food Innovation Contest 2023 รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ
    ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม แกรนด์ฮอลล์ 202 ในธีม Tomorrow Food Innovation โดยมีรางวัลดังนี้ รางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม แม่พวง กับผลิตภัณฑ์ Kaizo Vegan Fish Sauce จากสาหร่ายพวงองุ่น รางวัลชมเชยได้แก่ ทีม Amazing A กับผลิตภัณฑ์ มักหมักชิปส์ (Mak Mak Chips) Chips ทอดกรอบจากถั่วเน่า รางวัลโปสเตอร์ยอดเยี่ยม ทีม Amazing A

  • ทีม Oh my bean นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กับ "ผลิตภัณฑ์ V-NUA น้ำปลาร้าจากพืช" ในโครงการประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2022: Demo Days ภายใต้ธีม Local Fermentation Food Innovation ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2565 ณ ไอคอนสยาม กรุงเทพฯ

  • นักศึกษาสาขาวิศวกรรมอาหาร ที่ได้รับรางวัล “The Best ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมแข่งขันในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นระดับประเทศ นายภูธเนศ บุญมาเลิศ นส.ชลิดา พิมศรี นส.วนิตชญา สมบูรณ์ และนส. ณัฐนิชา รัตโนทัย นำเสนอผลิตภัณฑ์ “ผงจิ้งหรีดโปรตีนสูง” และ “ขนมขาไก่ผสมผงจิ้งหรีดโปรตีนสูง” คว้ารางวัล “The Best ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ในการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2565 จัดโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 8:00 – 13:00 น. ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • นางสาวกีรติกานต์ ศรีสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับรางวัลจากการแข่งขันกีฬาคาราเต้โด ดังนี้ 1.รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันกีฬาคาราเต้โด ประเภทท่ารำทีมหญิง ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Games 2022) ครั้งที่ 20 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 2.รางวัลเหรียญทองแดง จากการแข่งขันกีฬาคาราเต้โด ประเภทท่ารำบุคคลหญิง รุ่นอายุต่ำกว่า 21 ปี ในการแข่งขันกีฬาคาราเต้โดชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (All Thailand Karate Championship 2022) ครั้งที่ 53 ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 24 – 25 กันยายน 2565 ณ อาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี 3.รางวัลเหรียญทองแดง จากการแข่งขันกีฬาคาราเต้โด ประเภทท่ารำบุคคลหญิง รุ่นประชาชน ในการแข่งขันกีฬาคาราเต้โดชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (All Thailand Karate Championship 2022) ครั้งที่ 53 ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 24 – 25 กันยายน 2565 ณ อาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี

  • นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ปีที่ 12 FoSTAT Food Innovation Contest 2020 ใน Theme "Smart Thai Food" กับผลิตภัณฑ์ Patties Plant เนื้อเบอร์เกอร์จากถั่วเหลืองฝักอ่อน โดยได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

  • นักศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัลเหรียญทอง และเหรียญเงิน ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) คว้ารางวัลเหรียญทอง 1 รางวัล และเหรียญเงิน 4 รางวัล

  • นางสาวปริฉัตร ทิพย์ชัย และ นางสาวศศินา หินโม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมประกวดในงาน The 46th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation "Power of Science to Achieve SDGs ได้รับรางวัล Bronze Prize ในสาขาชีวภาพ รายการ Young Rising Stars of Science Award 2020 รางวัลดาวรุ่งวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ประจําปี พ.ศ.2563 ณ The Science Society of Thailand Under The Patronage of His Majesty the King

  • นางสาวอังค์วรา มูลใหม่ และ นางสาวสุธิดา ประทุมรัตน์ นักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมรับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 3 ในงานประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 (ThaiStar Packaging Awards 2020)

  • นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คว้ารางวัลชนะเลิศ The Best Of The Best In Asia “Asia Star Packaging Award 2020” จากเวทีประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับภูมิภาคเอเชีย ของ The Asian Pakaging Federation

  • คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขัน FoSTAT Food Innovation Concept Contest 2021
    Theme : Smart Food For New Normal
    จากผลงาน : Wonder Meat ผลิตภัณฑ์สามชั้นจากเห็ดหอม โดยมี ผศ.สุวรรณา เดชะรัตนางกูร และ อ.ดร.ชิตาพัณณ์ ใบงิ้ว เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

 

  • จินต์จุฑา ลีประเสริฐพันธ์, กมลนันท์ จิตรานุกูลกิจ, เบญจมาพร ศรีวิชัย, ชลลดา แก้วร่วมวงค์ และกรรณิการ์ ศรีกนก นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมกระบวนการอาหาร คว้ารางวัลชมเชย ในการแข่งขัน FoSTAT Food Innovation Concept Contest 2022 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทวรา ปฐมรังษิยังกุล และ ดร.เรวัตร พงษ์พิสุทธินันท์ ร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

  • จิตรลดา ณ ลำพูน, แพรวา ไชยวุฒิ, ปณิตตรา คำมีก้ำ, ศิรดา ลิ้มไพศาล และธนพร มอนไข่ ตัวแทนทีมคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 FoSTAT - Nestle Quiz Bowl 2022 การแข่งขันตอบปัญหาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี @ไบเทคบางนา วันที่ 18 มิถุนายน 2565 โดยการแข่งขันครั้งนี้ มีตัวแทนจาก 49 สถาบันทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน

  • นักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในกิจกรรม APEC Regional Youth Symposium ระดับภาคเหนือ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่

 

  • นางสาวแพรวา ไชยวุฒิ ศิษย์เก่าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบเกียรติบัตรรับรองนักศึกษาทุนระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 ภายใต้โครงการ “ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ASEAN+ONE Scholarship” จากมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ บัณฑิตวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่าทุนตลอดการศึกษากว่า 10 ล้านเยน หรือประมาณกว่า 3 ล้านบาท

 

ความประทับใจจากรุ่นพี่ในคณะอุตสาหกรรมเกษตร

  • “คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นเหมือนบ้าน เหมือนครอบครัว”
    เราเคยมองย้อนไปสมัยที่เขามาเรียนที่นี่ กับตัวเองตอนเรียนจบ เพราะได้พัฒนาตัวเอง ได้รับโอกาสมากมาย คณะและมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ให้เราได้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และอาจารย์แต่ละท่านก็พร้อมจะสนับสนุนนักศึกษาในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ระยะเวลา 4 ปีนั้นไวมาก รู้ตัวอีกทีก็เรียนจบแล้ว เรายังคงคิดถึงคณะอยู่ตลอด และหาโอกาสกลับไปเยี่ยมคณะเมื่อมีเวลา การเรียนในคณะอุตสาหกรรมเกษตรทำให้เรามีแรงผลักดันที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นและอยากกลับมาพัฒนาประเทศเราให้ดีขึ้นในด้านที่เรามีความรู้เฉพาะทาง ดังนั้น คณะไม่ได้พัฒนาเพียงแค่ด้านการศึกษา แต่ยังพัฒนาในด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากตำราเรียน ไม่ว่าจะคิดกี่ครั้ง ก็รู้สึกดีใจทุกครั้งที่ตัดสินใจมาเรียนที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร การประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ไม่ได้ขึ้นกับเพียงตัวเรา แต่เป็นเพราะ บุคคลากรท่านต่าง ๆ จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร ให้ความสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอมา ขอบคุณมากจริง ๆ ค่ะ แพรวา ไชยวุฒิ 611310XXX
  • ความประทับใจในการเป็นลูกช้างทอง คณะอุตสาหกรรมเกษตรแห่งนี้ คือการต้อนรับอย่างอบอุ่น การดูแลและเอาใจใส่พวกเราเป็นอย่างดีของคณะผู้บริหาร อาจารย์ พี่ๆเจ้าหน้าที่ และรุ่นพี่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในฐานะศิษย์ปัจจุบันหรือศิษย์เก่า โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เรียนที่นี่ ได้รับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการทำกิจกรรม การเรียน การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ตลอดจนแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ ทุกคนยังคอยสนับสนุนและให้คำปรึกษาในด้านการศึกษาเป็นอย่างดีเหมือนคนในครอบครัว สุดท้ายนี้ก็หวังว่าเราจะได้เป็นครอบครัวเดียวกันในอนาคตนะคะ ชุลีกร คเชนทร์ชัยถาวร 611310XXX
  • คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทำให้ประสบความสำเร็จทางการศึกษาอีกขึ้นหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาก็รู้สึกรักคณะแห่งนี้มาก อาจารย์ใจดีและพร้อมที่จะให้ความรู้และคำปรึกษาแก่นักศึกษาทุกคน ระหว่างที่เรียนก็มีกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคณะ ทำให้ได้มิตรภาพจากเพื่อน ได้ความอบอุ่นจากพี่ๆ และบุคลากรในคณะ ทำให้เรารู้สึกรักและผูกพันกับคณะมากยิ่งขึ้น นับเป็นช่วงเวลาที่ดี และเป็นโอกาสอันดีที่ได้มาศึกษา ทำให้รู้สึกมีความสุข อบอุ่นทุกครั้งที่ได้กลับมาที่นี่ อก.มช. .. อภิสิทธิ์ แปลงเหมือน 621310XXX

ทุนการศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี

  1. ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
  2. ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี
  3. ทุนการศึกษาสำหรับจ้างนักศึกษาทำงาน (ทุนทำงาน)
  4. ทุนการศึกษาสำหรับนักกิจกรรมดีเด่น
  5. ทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬาดีเด่น
  6. ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาดีเด่น

ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS

สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์
สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

งานบริการการศึกษา คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
155 หมู่ 2 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100
โทรศัพท์ : 053-948208, 097-9646999
Youtube : AgroCMUOfficial
Line/Instagram : @agrocmu
Facebook : @agrocmu1
Website : www.agro.cmu.ac.th

ดาวน์โหลด PDF:

ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด

คณะอุตสาหกรรมเกษตร

  • ดาวน์โหลด PDF: ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด