Last update: 27 ก.ย. 2567 , 15:38

          เครือข่ายวิชาการระดับชาติและนานาชาติ เกิดความร่วมมือด้านงานและแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ตลอดจนการเรียนกับสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งด้านชุมชนท้องถิ่นที่สามารถผสานนำความรู้ข้ามศาสตร์ บูรณาการชั้นเรียนผ่านการฝึกภาคสนาม และให้บริการชุมชนรับประโยชน์พร้อมกัน

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567

มีทั้งหมด 4 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์
         ภายใต้ภาควิชาภูมิศาสตร์ หลักสูตรเน้นศาสตร์เชิงพื้นที่กายภาพ นำแนวความคิดทฤษฎีการจัดระเบียบเชิงพื้นที่ การคาดการณ์ การวิเคราะห์วางแผน และการจัดการเชิงพื้นที่ ความรู้เชิงวิชากการและวิชาชีพจะครอบคลุมภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์มนุษย์และเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์และสารสนเทศ ผู้เรียนจะสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสังคม สถานที่ พื้นที่ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญ จะได้ทักษะความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ เช่น แผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ การรับรู้จากระยะไกล และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้งานอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภูมิศาสตร์ต่อประเด็นปัญหาการพัฒนาในสภาวะโลกพลิกผัน ไม่ว่า ภัยพิบัติธรรมชาติ การเพิ่ม/ลดประชากร การตั้งและย้ายถิ่นฐาน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ การขนส่ง และประเด็นการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น
แนวทางการประกอบอาชีพ
บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้ประยุกต์ใช้กับการงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเชิงพื้นที่ วิเคราะห์และวางแผนงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น
1. งานกลุ่มภาครัฐ เช่น การวางผังเมืองและการจัดการเมือง การจัดการทรัพยากร (ดิน น้ำ ป่าไม้) การจัดการพื้นที่สูง
2. งานภาคเอกชน เช่น งานภูมิสารสนเทศศาสตร์ ระบบการขนส่ง ระบบนำทาง การพัฒนาเทคโนโลยีแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มการใช้ข้อมูลสารสนเทศวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล
3. ครู อาจารย์ นักวิจัย นักภูมิศาสตร์ นักภูมิสารสนเทศศาสตร์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
4. งานด้านการจัดการข้อมูล เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์และสารสนเทศในองค์กรระหว่างประเทศ
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
2. มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี
ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ 15,000 บาท

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
          ภายใต้ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หลักสูตรนี้เน้นการเรียนการสอน งานวิจัยและบริการวิชาการที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ทั้งตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยและประเทศ และยังสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย หลักสูตรจึงมีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม ความรู้ ความสามารถ รู้จักคิดและกล้าวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ สามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ประยุกต์ใช้ทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพหลากหลายและในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนได้อย่างสันติและมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
แนวทางการประกอบอาชีพ
1.1 สายราชการ
บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้สามารถสอบเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐได้ โดยเฉพาะตำแหน่งหน้าที่ในกรม/กระทรวงต่าง ๆ อาทิ นักพัฒนาชุมชน/สังคมใน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นักสังคมสงเคราะห์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มงานนโยบายและแผนในส่วนงานต่าง ๆ
1.2 งานเอกชน
ตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงาน/องค์กรภาคเอกชน ได้แก่ พนักงานบริษัทเอกชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและวางแผน ฝ่ายวิจัยการตลาด ฝ่ายบุคคล ฝ่าย CSR หรือ นักบรรษัทบริบาล นักธรรมาภิบาล นักพัฒนาและเจ้าหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชน พนักงานธนาคารและสินเชื่อ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
1.3 สายวิชาการและสื่อสารมวลชน
อาจารย์ นักวิจัย นักวัฒนธรรมศึกษา ผู้ช่วยนักวิจัย นักเขียน นักข่าว บรรณาธิการหนังสือ งานด้านประชาสังคม เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน คนทำหนังสือ นิตยสาร เป็นต้น
1.4 สายอิสระ ธุรกิจส่วนตน
ได้แก่ ผู้ประกอบการใหม่ที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม หรือที่เรียกว่า ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurs) ผู้ประกอบการอิสระ (Freelancers) ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น
ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ 15,000 บาท

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาอาเซียนศึกษา
           ภายใต้ภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา หลักสูตรเน้นการเรียนการสอน วิจัยและบริการวิชาการที่สร้างความเข้าใจรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน จุดเน้นของหลักสูตรสนับสนุนให้เรียนภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน (รวมภาษาจีน) อย่างเข้มข้น โดยนักศึกษาสามารถเลือกเรียนในหลักสูตรภาษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือเดินทางไปเรียนภาษาในประเทศนั้นๆ ภายใต้ MOU ของคณะ/มช. นอกจากนี้ หลักสูตรเน้นการทดลองใช้ความรู้ผ่านการลงพื้นที่ภาคสนาม และสามารถฝึกสหกิจศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย
แนวทางการประกอบอาชีพ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถนำความรู้และทักษะด้านภาษาอาเซียนไปประกอบอาชีพในภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ นักวิจัย นักวิชาการ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เจ้าหน้าที่ในองค์กรของรัฐในต่างประเทศและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และสามารถประกอบอาชีพในภาคเอกชน เช่น การจัดการธุรกิจ การโรงแรม การท่องเที่ยว และการจัดการวัฒนธรรม เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขั้นต้น และทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือและการแก้ปัญหาประเด็นต่างๆ ในภูมิภาค

ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ 15,000 บาท

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ)
          ภายใต้ภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา เป็นหลักสูตรนานาชาติ เน้นบูรณาการองค์ความรู้ของศาสตร์ทางสังคมที่หลากหลาย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนในการเป็น “ผู้ปฏิบัติการทางสังคม” มีทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบททางสังคมใหม่ในศตวรรษที่ 21 มีคุณธรรมและคุณสมบัติการเป็นพลเมืองของชาติและโลก ตระหนักรู้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งเทคโนโลยีที่พลิกผัน (Digital Disruption) เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รักความเสมอภาคและความยุติธรรมในสังคม มีทัศนคติที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสาธารณะ กระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมเสนอแนวทางแก้ปัญหาสังคม
ทั้งนี้ หลักสูตรฯ มีการจัดการเรียนการสอน ทำกิจกรรมในชุมชนและลงพื้นที่ภาคสนามที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าใจและเรียนรู้การใช้ศักยภาพของตนเพื่อสังคม สามารถประยุกต์ใช้ความรู้วิเคราะห์ปัญหาปรากฏการณ์ในสังคม อาทิ นโยบายและการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงและจัดการทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศ การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและรูปแบบใหม่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกระบบ ประเด็นการข้ามชาติ เทคโนโลยีและความมั่นคงของมนุษย์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น
แนวทางการประกอบอาชีพ
-  เป็นนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเชิงพื้นที่
เป็นบุคลากรขององค์กรทางสังคมด้านการพัฒนา สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง
-  ทำงานกับองค์กรด้านการพัฒนา สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ทั้งระดับชาติและนานาชาติ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศหน่วยราชการทั่วไปโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา และความร่วมมือระหว่างประเทศ
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
สัญชาติไทย 35,000 บาท ต่อ ภาคการศึกษา
สัญชาติอื่นๆ 55,000 บาท ต่อ ภาคการศึกษา

ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS

สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์
สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องเล่าจากตัวแทนรุ่นพี่ในคณะสังคมศาสตร์

นิตินัย สีมาปัน ศิษย์เก่าภาควิชาภูมิศาสตร์ ปีการศึกษา 2551
ช่วงชีวิตนักศึกษาภูมิศาสตร์มช.ทัง ป.ตรีและป.โทมันเป็นอะไรที่มีความสุขมากๆ ไม่เพียงแค่ในห้องเรียนแต่เราออกภาคสนามบ่อย ได้เรียนรู้จากของจริง มันเปิดโลกให้กับพี่มากๆ ว่ายังมีอีกหลายสิ่งให้เราได้เรียนรู้โดยเฉพาะทางสายภูมิศาสตร์มนุษย์ที่เด็กนักเรียนยังรู้จักน้อย ปัจจุบันพี่เป็นครูสังคมศึกษา โรงเรียนมัธยมวิทยา จ.ลำปาง และเป็นติวเตอร์ในนาม “สังคมแฮปปี้กับครูพี่โตมร” ซึ่งต้องคอย Upskill ความรู้รอบตัวบนโลกอยู่เสมอ สิ่งที่ได้คือ การคิดอย่างเป็นระบบ รู้ลึก รู้จริง ไม่ได้สอนให้ท่องจำแม่น้ำ ภูเขา ให้เด็กระบายสีแผนที่แล้วจบ แต่ต้องวิเคราะห์เชิงพื้นที่ในกรอบของ Place/Space/Locationให้ความสำคัญกับมิติทางกายภาพมนุษย์และเทคนิครวมถึงเรื่องราวใหม่ๆ ทางสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ภูมิสารสนเทศ เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

เว็บไซต์ https://www.soc.cmu.ac.th
Facebook Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
โทรศัพท์ 0-5394-3520, 0-5394-3522

ดาวน์โหลด PDF:

ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด

คณะสังคมศาสตร์

  • ดาวน์โหลด PDF: ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด