Last update: 3 ส.ค. 2566 , 17:32

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ) 
         มากกว่าเขียนโปรแกรมได้
        คือการเขียนโปรแกรมให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการ

       Software Engineering ใกล้ตัวกว่าที่คิด
        ในยุคปัจจุบันที่กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา มีการใช้ Software เข้ามาเป็นตัวช่วย ตั้งแต่เริ่มตื่นนอนที่ใช้การปลุกจากการตั้งเวลาในโทรศัพท์, การคำนวณระยะเวลาในการเดินทาง, การพูดคุยกันผ่านโปรแกรมแชท, การพิมพ์เอกสาร, การสั่งอาหาร, การจองโรงแรม ฯลฯ ซึ่งกระบวนที่พัฒนาระบบต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมานั้นเรียกว่า “วิศวกรรมซอฟต์แวร์” (Software Engineering)

       เรียนเกี่ยวกับอะไร?
        วิศวกรรมซอฟต์แวร์ คือหลักสูตรที่เรียนเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “การเขียนโปรแกรม” โดยเป็นการเรียนรู้ในกระบวนการพัฒนาโปรแกรมตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มตั้งแต่การประเมินความต้องการของลูกค้า, การออกแบบโครงสร้างของโปรแกรม, การวางแผนกระบวนการพัฒนา, การ Coding, การทดสอบโปรแกรม เป็นต้น

       สิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง
        นิยามของ “โปรแกรมที่ดี” นั้นสามารถมองได้หลายมุม เช่น พัฒนาได้ตรงตามความต้องการ, พัฒนาได้ทันกำหนด, ไม่มีปัญหาเมื่อใช้งานจริง ฯลฯ แต่ที่นี่เราสอนให้ผู้เรียนพัฒนาโปรแกรมให้ได้ตามมาตรฐาน SEEK (Software Engineering Education Knowledge) จากหน่วยงาน IEEE Computer Society และ ACM (Association for Computing Machinery) ซึ่งเป็นองค์กรหลักด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้จริงในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าซอฟต์แวร์ได้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
 

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแอนนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ (หลักสูตรสองภาษา)
        งานศิลปะ ที่ไม่จำกัดแค่บนผืนผ้าใบ

       ในวันที่งานศิลป์ ไม่ใช่แค่การจัดแสดงใน Gallery
        ปัจจุบันความรู้ในด้านศิลปะและการออกแบบถูกนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสื่อโฆษณา, การ์ตูน, การสร้างภาพยนต์ แต่การสร้างงานศิลป์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแพลตฟอร์มที่หลากหลายได้นั้นจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านศิลปะ, ด้านคอมพิวเตอร์ และความรู้ด้านการสื่อสาร

        เรียนเกี่ยวกับอะไร?
         ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ความรู้เบื้องต้นด้านการเขียนโปรแกรม และความรู้ด้านการออกแบบและการสร้างคอมพิวเตอร์กราฟิก, ภาพเคลื่อนไหว และภาพเสมือนจริง สามารถเลือกใช้โปรแกรมที่เหมาะสมกับงานแต่ละแบบ สามารถสร้างผลงานได้หลากหลายรูปแบบทั้ง 2D และ 3D รวมไปถึงการเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีการสื่อสารด้วย

       เป็นทั้งศิลปินและนักพัฒนาสื่อ
        ด้วยการบูรณาการความรู้ทั้งด้าน CG, CGI, VFX เข้ากับความรู้ด้านทฤษฎีการสื่อสาร ทำให้ผู้ที่เรียนจบจากหลักสูตรนี้สามารถออกแบบผลงานให้ออกมาสวยงาม สมจริง และสื่อสารได้ชัดเจนครบถ้วน สามารถผลิตงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งสื่อเพื่อความบันเทิง, เพื่อการศึกษา, การตลาด ฯลฯ
 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดิจิทัลเกม (หลักสูตรสองภาษา)
        คุณคือผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมสนุก ๆ ใช่ไหม? ทำไมไม่ลองสร้างเกมของตัวเองขึ้นมาบ้างล่ะ

       ทำไมต้องเรียน Digital Game ?
        ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมเกมกลายเป็นอีกหนึ่งสื่อบันเทิงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยแพลตฟอร์มการเล่นที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะทั้ง PC, เครื่อง Console (Play Station, XBOX, Nintendo) และเกมบนมือถือ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 37,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญ ก็มาจากเทรนด์อีสปอร์ต หรือการมองเกมเป็นกีฬา ในที่นี้ คือมีการจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ และเริ่มแพร่หลายในวงกว้าง จนดึงดูดทั้งนักลงทุน และบริษัทรายใหญ่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น (ที่มา-ลงทุนแมน) จะดีกว่าไหมหากมีเกมที่ผลิตโดยคนไทยสู่ตลาดสากล

       เรียนเกี่ยวกับอะไร?
        หลักสูตร Digital Game คือหลักสูตรที่จะสอนให้คุณกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเกม มีความเข้าใจในทุก ๆ กระบวนการของการสร้างเกม ตั้งแต่การเริ่มออกแบบวางโครงสร้างของเกม การเขียนโปรแกรมทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูง การออกแบบรูปแบบการเล่นและหน้าตาของเกม รวมถึงสามารถพัฒนาเกมในเชิงพาณิชย์ซึ่งสามารถวางจำหน่ายในตลาดได้

       ความพิเศษของเรา
        หลักสูตร Digital Game นั้น เราเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความถนัด ซึ่งกระบวนการพัฒนาเกมนั้นมีองค์ประกอบย่อยหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการวางโครงสร้างเกม, การออกแบบตัวละคร, การสร้าง Visual Effect, การออกแบบและพัฒนาเกม Online, การพัฒนาเกมสำหรับ PC/Console/Mobile รวมถึงการเรียนรู้ระบบการจัดการ E-sports 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล
       เรียนสายดิจิทัลให้ไม่ตกงาน ด้วยการมีงานทำตั้งแต่ตอนเรียน จบได้ภายใน 3 ปี 

       เมื่อคนกับงาน ความต้องการไม่ตรงกัน
        ในปัจจุบัน ความต้องการบุคลากรในสายงานดิจิทัลนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ธุรกิจต่าง ๆ มีการบูรณาความเป็นดิจิทัลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความรู้ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีก็มีการเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ความรู้ที่เรียนมาในหลักสูตรเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

       แล้วทางออกคืออะไร?
        CAMT มองเห็นปัญหาเรื่องความต้องการที่ไม่ตรงกันของผู้เรียนกับตลาดแรงงาน จึงแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่ใช้ “ธุรกิจ” เป็นตัว ให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่บริษัทต้องการ ด้วยการร่วมมือกับบริษัทเอกชน ทำการคัดเลือกผู้เรียนที่เหมาะสมกับแต่ละบริษัท ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริงเป็นเวลา 14 เดือน โดยมีการสอนปูพื้นฐานร่วมกันระหว่าง CAMT และผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม โดยในช่วงที่ทำงานกับบริษัทจะมีการติดตามผลจากอาจารย์ผู้สอนอย่างต่อเนื่อง

       มากกว่าความรู้และประสบการณ์ คือการได้งานทำ
        การเรียนกับหลักสูตร DII จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตรงกับความความต้องการของบริษัท จบมาแล้วสามารถปฏิบัติงานได้ทันที และมีการการันตีค่าตอบแทนขั้นต่ำ 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 14 เดือน ให้กับผู้เรียนระหว่างที่ทำงานกับบริษัทด้วย การคัดเลือกผู้เรียนในสาขา DII  จะมีความแตกต่างจากสาขาอื่นๆ ตรงที่ผู้สนใจจะต้องเข้าร่วม Workshop กับบริษัท โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้เซ็นสัญญาเข้าเป็นพนักงาน

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรสองภาษา)
        นักธุรกิจยุคใหม่ ที่ใช้ความรู้ด้าน IT

       ในยุคที่ทุกองค์กร ต้องการทักษะด้าน IT
        ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ธุรกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลนั้นได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริการจัดการองค์กร ทั้งในรูปแบบของซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทำงาน, การส่ง/รับข้อมูลภายในองค์กร, การติดตามข้อมูลด้าน Logistic รวมไปถึงการย้ายมาให้บริการแก่ลูกค้าผ่านระบบ Online ทำให้ตำแหน่งงานในยุคใหม่ ต้องการผู้ที่มีความรู้ทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กรและด้าน IT สามารถตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้นได้

       เรียนเกี่ยวกับอะไร?
        สาขาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงและปรับใช้ความรู้ด้าน IT กับการบริหารจัดการองค์กรในภาคธุรกิจได้ ผู้เรียนจะได้เรียนความรู้พื้นฐานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ควบคู่ไปกับการเรียนด้านบริหารธุรกิจ เช่น การจัดการ, Logistic, Supply Chain, การตลาด

       องค์กรยุคใหม่ กับการประยุกต์ใช้ IT
        ปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการจัดการ ด้วยใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวเชื่อมโยงข้อมูลจากฝ่ายต่าง ๆ ขององค์กรเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ระบบงานทางการบัญชี, การเงิน, การผลิต, การขาย, ทรัพยากรบุคคล ฯลฯ ซอฟต์แวร์เหล่านี้เรียกว่า ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งผู้ที่เรียนจบจากหลักสูตร MMIT นั้นสามารถออกแบบและเลือกใช้ซอฟต์แวร์ ERP ที่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินงานขององค์กรนั้น ๆ ได้
  

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ)  
          สายงานหลักของวิศวกรรมซอฟต์แวร์นั้น จะถูกเรียกรวม ๆ ว่า “Developer” หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่ในความจริงแล้วสายงานด้าน Developer นั้นสามารถแยกย่อยได้อีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น Business Analyst ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าให้ออกมาเป็นโครงสร้างข้อมูล, System Analyst ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลความต้องการของลูกค้าให้กลายเป็นข้อมูลเชิงเทคนิค, Project Manager ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการพัฒนา, Programmer ที่ทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมให้ตรงตามความต้องการของ PM ฯลฯ ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้เพื่อค้นหาความถนัดของตนเองว่าเหมาะกับหน้าที่ใดในสายงานนี้

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแอนนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ (หลักสูตรสองภาษา) 
          ที่จบจากหลักสูตรนี้สามารถทำงานได้หลากหลายสาขาอาชีพในด้านการสร้างสื่อ อย่าง แอนนิเมเตอร์, ดิจิทัลอาร์ตติส สร้างงานศิลปะด้วยคอมพิวเตอร์, กราฟฟิกดีไซเนอร์, นักสร้างภาพเสมือนสำหรับภาพยนตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดิจิทัลเกม (หลักสูตรสองภาษา)
          นอกเหนือจากการสร้างเกมเพื่อความบันเทิงแล้ว เรายังสอนให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาเกมเพื่อจุดประสงค์อื่นได้ เช่น การสร้างเกมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะและความรู้ในด้านต่างๆ สามารถประยุกต์ใช้ในการศึกษาด้วยตัวเอง หรือใช้ในสถานศึกษา, การสร้างเกมเพื่อใช้ในด้านการตลาด ทำให้ผู้ที่จบจากหลักสูตรนี้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทั้งนักพัฒนาเกมอิสระ, พนักงานบริษัทพัฒนาเกม, ผู้ดูแลระบบเกม Online, ผู้จัดการการแข่งขัน e-sports, โปรแกรมเมอร์, Game Artist และอื่นๆ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล
          เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานทางด้านดิจิทัลในองค์กร  เจ้าหน้าที่ดูแลระบบด้านดิจิทัลผู้บริหารด้านดิจิทัลทุกระดับ  ผู้กำหนดนโยบายและจัดการยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลผู้ประกอบการอิสระด้านดิจิทัล นักวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจดิจิทัล นักวิชาชีพในสถานประกอบการที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  นักวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล  ผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาด้านการจัดการเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรสองภาษา)
          หลักสูตร MMIT นั้นทำให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้ในด้านการบริหารจัดการ และด้าน IT ทำให้ปฏิบัติงานได้ทั้งในส่วนของการเป็นพนักงานระดับบริหาร, ผู้จัดการ และพนักงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูลองค์กร, นักวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาด, IT Support, ผู้ดูแลฐานข้อมูลองค์กร

ค่าเล่าเรียน

สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
ภาคการศึกษาละ           40,000 บาท
สาขาวิชาแอนนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ (หลักสูตรสองภาษา) และสาขาดิจิทัลเกม (หลักสูตรสองภาษา)   
ภาคการศึกษาละ           38,000 บาท
สาขาวิชาบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล
ภาคการศึกษาละ           32,500 บาท
สาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรสองภาษา)
ภาคการศึกษาละ           33,000 บาท

ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS

สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์
สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศิษย์เก่าดีเด่น

นาย ภิญโญ ตัณรัตนมณฑล
CEO บริษัท เอ็นดีเอฟ เดฟ จำกัด

Work Experience 

  • พัฒนา Program, Game, Application, Augmented Reality,Virtual Reality ด้วย Unity
  • ออกแบบ User Experience
  • บริหารจัดการโครงการ

ด้าน Development (Developer)

  • Game: VegieDog, MisionSword, InsanityStyle, SOSBalon, - AR: Clorets AR, JNTO Photo Booth AR, K-Water AR, Amazing Thailand AR, AR Zoo, Doctor Bear,  My Legend My Muay Thai
  • VR: Samsung Playback VR
  • Aplication: Game Slinger

ด้าน Management (Project Manager)

  • Game: Race For Good, Football Goal Kicker, Jeopardy, Halal Route, Smart Doi
  • AR: Legend Siam AR, STKC Science AR, JCB AR, Dragon Tamer AR, Aquarium AR, Smart CMUClean Energy
  • VR: Pure Storage VR, STKC Thai Sea Discovery
  • Program: You Hunt We Cook by Samsung, LABAN Editor
  • Others: Halal Scan, SAC AR, CAMT Metaverse, SCG verse

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทรศัพท์ : 063-5250248, 053-920299  
โทรสาร : 053-941803
เว็บไซต์ : www.camt.cmu.ac.th 
Facebook : www.facebook.com/CAMTOfficial
Line : @camtcmu

 

ดาวน์โหลด PDF:

ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

  • ดาวน์โหลด PDF: ยังไม่มีไฟล์ดาวน์โหลด