Last update: 25 ส.ค. 2566 , 15:08

หลักสูตรที่เปิดสอน ปีการศึกษา 2567

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์
          คณิตศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มุ่งพัฒนาด้านความคิดของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างมีระบบ โดยอาศัยกระบวนการของเหตุผล ความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ นำไปสู่การคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งทางทฤษฎีและการประยุกต์ คณิตศาสตร์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
          1. คณิตศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ในเชิงทฤษฎี เพื่อการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก การทำวิจัยคณิตศาสตร์ขั้นสูงและการประยุกต์ใช้ในศาสตร์ต่างๆ
          2. คณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นการศึกษาทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เพื่อนำไปใช้ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาอื่นๆ
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติ      
          ปัจจุบันสถิติได้มีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินการจัดทำข้อสรุปของข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจ แก้ปัญหา และวางแผนด้านต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม วิชาการทางสถิติได้จัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
          1. สถิติวิเคราะห์ เป็นกลุ่มวิชาที่ว่าด้วยทฤษฎีทางสถิติต่างๆ เช่น การเลือกตัวอย่าง การวางแผนการทดลอง การวิเคราะห์และการพยากรณ์ เป็นต้น
          2. สถิติประยุกต์ เป็นกลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการนำเอาสถิติไปใช้ในงานด้านต่างๆ เช่น การประกันภัย  ประชากรศาสตร์ ชีวสถิติ การควบคุมคุณภาพ การวิจัยดำเนินงาน การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นต้น
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
          มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ในทฤษฎีที่เป็นแกนสำคัญของสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นรากฐานนำไปสู่ความเข้าใจ ความสามารถรับแนวความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ให้เป็นผู้ที่มีวิธีคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลและเป็นระบบ สามารถนำเนื้อหาที่เรียนไปประยุกต์แก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี โดยมี 2 แผนการศึกษา ได้แก่ แผน 1 นักศึกษามีโอกาสไปฝึกงานในหน่วยงานของรัฐและเอกชน และแผน 2 เป็นแผนการเรียนสหกิจศึกษา โดยนักศึกษาจะมีโอกาสไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการที่ภาควิชาได้ทำการคัดเลือกเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา  
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี
          เคมีเป็นศาสตร์พื้นฐานที่ครอบคลุมทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต การบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งมีเคมีเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย การศึกษาทางเคมีเป็นสิ่งสำคัญในอันที่จะนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อไป โดยศึกษาเกี่ยวกับสมบัติ ส่วนประกอบ โครงสร้าง และปฏิกิริยาของสาร รวมทั้งพลังงานที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ในทางเคมีอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งมีทักษะในการปฏิบัติการและเครื่องมือทางเคมี 
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีวเคมีและชีวเคมีนวัตกรรม
          ชีวเคมี เป็นวิชาที่ศึกษาสารเคมีที่มีในสิ่งมีชีวิตหรือที่เรียกว่า ชีวโมเลกุล และกระบวนการเคมีในสิ่งมีชีวิต ตลอดจนการควบคุมในระดับต่าง ๆ ส่วนชีวเคมีนวัตกรรม เป็นวิชาที่ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านชีวเคมีสู่อุตสาหกรรม เช่น การสกัดสารชีวโมเลกุลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การใช้คุณสมบัติการเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์หรือเซลล์ในการผลิตสารที่มีความซับซ้อน การใช้เอนไซม์ เซลล์ หรือ ดีเอ็นเอ เพื่อตรวจวิเคราะห์ที่มีความจำเพาะ การปรับปรุงสายพันธุ์จุลินทรีย์อุตสาหกรรมด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม เป็นต้น
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม
          ศึกษาเกี่ยวกับเคมีในเชิงประยุกต์ มุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ สามารถประยุกต์วิชาเคมีในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบ การเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เข้าใจในลักษณะการทำงานของเครื่องมือและวิธีการออกแบบเครื่องมือในโรงงานอุตสาหกรรม การเลือกเงื่อนไขในเครื่องปฏิกรณ์เคมีที่เหมาะสม การออกแบบโรงงานและเศรษฐศาสตร์โรงงาน 
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา
          ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านโครงสร้าง กระบวนการทำงานในสิ่งมีชีวิต การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและชีววิทยาระดับโมเลกุล เทคโนโลยีการตัดต่อยีน และแยกชนิดของเอนไซม์ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อพืช-สัตว์ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การจำแนกสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม  การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจุลชีววิทยา
          จุลชีววิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรีย ฟังไจ ไวรัส และสาหร่าย โดยศึกษาสัณฐานวิทยา สรีรวิทยา ชีวกิจกรรม อนุกรมวิธาน พันธุศาสตร์ นิเวศวิทยา และบทบาทในด้านที่เป็นประโยชน์และโทษต่ออุตสาหกรรม เกษตรกรรม การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการศึกษาในห้องเรียนและภาคสนาม มีการออกฝึกงานทั้งในภาครัฐและเอกชน
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตววิทยา
          สัตววิทยาเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาแง่มุมต่างๆ ของสัตว์ทุกกลุ่ม ตั้งแต่สัตว์ขนาดเล็กคือ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทั้งด้านกายวิภาค สัณฐานวิทยา สรีรวิทยา พันธุศาสตร์  อนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และพฤติกรรม ตลอดไปจนถึงความสัมพันธ์ของสัตว์ต่างๆ กับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า นักศึกษาจะมีโอกาสฝึกภาคสนามด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการนำเอาทฤษฎีที่ได้เรียนไปปฏิบัติจริงในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์
          ฟิสิกส์เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่เป็นสากล โดยเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์พื้นฐานของความเป็นไปในธรรมชาติ ซึ่งศึกษาโครงสร้างของสิ่งที่เล็กที่สุดไปจนถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของจักรวาล รวมทั้งการนำไปใช้ในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในสาขาต่างๆ 
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวัสดุศาสตร์
          เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง สมบัติ การประดิษฐ์และการปรับปรุงวัสดุ ได้แก่ โครงสร้างทางจุลภาค โครงสร้างผลึก สมบัติเชิงกล สมบัติทางความร้อน สมบัติทางแสงและเสียง สมบัติทางไฟฟ้าและแม่เหล็ก เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การปฏิบัติงานเชิงวิศวกรรมและอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธรณีวิทยา
          ศึกษาส่วนประกอบและโครงสร้างของเปลือกโลก รวมทั้งกระบวนการทางธรณีวิทยาต่างๆ อาทิ การกำเนิดหิน  แร่  น้ำบาดาล  ปิโตรเลียม ถ่านหิน และทรัพยากรธรณี อีกทั้งศึกษาเรื่อง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินถล่ม การผุกร่อน การกัดเซาะ  และภัยพิบัติทางด้านธรรมชาติ
          ความรู้ทางธรณีวิทยา สามารถนำไปใช้ในการสำรวจและพัฒนาทรัพยากรธรณีต่างๆ เช่น แหล่งแร่ ปิโตรเลียม ถ่านหิน อัญมณี และน้ำบาดาล และในการก่อสร้างถนน สนามบิน อุโมงค์ใต้ดิน เขื่อน และการป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในการอนุรักษ์และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบรรเทาภัยธรรมชาติ
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอัญมณีวิทยา
          อัญมณีวิทยาเป็นสาขาวิชาที่ตอบสนองปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสาขาวิชาทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทย มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนทำให้มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมประเภทนี้อยู่ในอันดับต้นๆ ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ
          อัญมณีวิทยามีพื้นฐานมาจากสาขาวิชาวิทยาแร่ โดยศึกษาเกี่ยวกับแร่รัตนชาติและอัญมณีอื่นๆ ตั้งแต่การเกิด การจำแนกประเภท การทำเทียมเลียนแบบ  การเพิ่มคุณค่า การตรวจสอบวิเคราะห์ การจัดคุณภาพ การประเมินราคา ไปจนถึงการตลาดและการขาย
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล
          วิทยาการข้อมูลเป็นสาขาวิชาที่เกิดจากการบูรณาการจากหลายสาขาวิชา เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้และความเข้าใจในการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อน มีปริมาณมหาศาลในหลากหลายรูปแบบและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการวางแผนประกอบการตัดสินใจ ตลอดจนการแก้ปัญหาให้องค์กร ทำให้เกิดการดำเนินการในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา :     

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (หลักสูตรนานาชาติ)
          วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชา โดยสามารถนำมาบูรณาการและประยุกต์ใช้ในการศึกษาและทำความเข้าใจในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการติดตาม ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบการจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดการก่อมลพิษ เพื่อช่วยในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์และความยั่งยืน
>>>> เปิดรับสมัครนักเรียนที่สำเร็จแผนการศึกษา : 

เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง?

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์

  • ครู/อาจารย์สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • นักวิจัย
  • นักวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาระบบงาน
  • โปรแกรมเมอร์
  • ผู้ประกอบการ
  • นักวิชาการศึกษา/ศึกษานิเทศก์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติ

  • นักสถิติในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
  • นักวิชาการในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
  • นักวิจัย
  • นักวิเคราะห์ข้อมูล
  • ครู/อาจารย์
  • นักสถิติในโรงงานอุตสาหกรรมประจำแผนกต่างๆ เช่น ควบคุมคุณภาพ ประกันคุณภาพ วางแผนการผลิต จัดซื้อ เป็นต้น

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์

  • นักวิชาการคอมพิวเตอร์
  • นักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์
  • นักวิเคราะห์และออกแบบระบบ
  • โปรแกรมเมอร์
  • ผู้ดูแลระบบเครือข่าย
  • ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล
  • นักพัฒนาซอฟต์แวร์
  • ผู้พัฒนาและดูแลเว็บไซต์
  • ผู้ประกอบการธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์
  • ครู/อาจารย์
  • นักวิจัย

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี

  • นักเคมีในสถาบันวิจัย
  • ครู/อาจารย์
  • นักวิจัย/นักวิเคราะห์คุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรม
  • ธุรกิจส่วนตัว ผู้แทนฝ่ายขายสารเคมีและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมการผลิต/ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์

 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีวเคมีและชีวเคมีนวัตกรรม

  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ในอุตสาหกรรมชีวเคมี และชีวเคมีเทคโนโลยี และหน่วยงานทุกหน่วยที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านสารชีวโมเลกุลและปฏิกิริยาเคมี
  • นักวิชาการ/ครู/อาจารย์ด้านชีวเคมีและชีวเคมีเทคโนโลยี
  • นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางชีวเคมี
  • ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเคมีภัณฑ์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม

  • นักเคมีอุตสาหกรรม
  • ผู้ดูแลฝ่ายควบคุมกระบวนการผลิต
  • ผู้ดูแลฝ่ายควบคุมและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์
  • นักวิจัยและพัฒนา
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการเทคนิค
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายออกแบบการผลิต
  • ครู/อาจารย์/นักวิชาการ
  • เจ้าของกิจการ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา

  • นักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยา
  • นักวิจัยประจำสถาบันวิจัย สถาบันอุดมศึกษา หรือ โรงพยาบาล
  • ครู/อาจารย์
  • ผู้ประกอบการ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจุลชีววิทยา

  • นักจุลชีววิทยา
  • นักวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • ครู/อาจารย์
  • เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ (Q.C.)
  • เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D)
  • นักวิจัย

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตววิทยา

  • นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสัตว์
  • นักวิจัยประจำสถาบันวิจัย  สถาบันอุดมศึกษา  สวนสัตว์  โรงพยาบาล
  • ครู/อาจารย์ด้านสัตววิทยา ด้านชีววิทยา และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์

  • นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและพัฒนาด้านฟิสิกส์
  • อาจารย์และครูในสาขาวิชาฟิสิกส์
  • วิศวกร นักวิเคราะห์ ผู้ออกแบบควบคุมการผลิต และควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • ผู้ประกอบการ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวัสดุศาสตร์

  • นักวิเคราะห์คุณภาพวัสดุ
  • วิศวกรผู้ควบคุมคุณภาพวัสดุ
  • วิศวกรผู้ควบคุมการผลิตวัสดุ
  • นักวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์
  • นักวิทยาศาสตร์ทางด้านวัสดุศาสตร์
  • อาจารย์สาขาวิชาวัสดุศาสตร์
  • ผู้ประกอบการ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธรณีวิทยา

  • นักธรณีวิทยา
  • นักวิจัย/นักวิชาการ
  • ครู/อาจารย์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอัญมณีวิทยา

  • นักอัญมณีวิทยา
  • นักวิชาการ/นักวิจัยด้านอัญมณีวิทยา
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต และฝ่ายควบคุมคุณภาพในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
  • ครู/อาจารย์/นักวิทยาศาสตร์
  • นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ
  • ผู้ประกอบการ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล

  • นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
  • วิศวกรข้อมูล
  • นักวิเคราะห์และวางแผน
  • ครู/อาจารย์
  • ผู้ประกอบการอิสระด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (หลักสูตรนานาชาติ)

  • นักวางแผนและวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
  • นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
  • นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
  • นักวิจัย
  • ครูวิทยาศาสตร์ทั่วไป

 ค่าเล่าเรียน

หลักสูตรปกติ             เหมาจ่าย  128,000 บาท ตลอดหลักสูตร  (ภาคการศึกษาละ  16,000 บาท)
หลักสูตรนานาชาติ       เหมาจ่าย   280,000 บาท ตลอดหลักสูตร (ภาคการศึกษาละ  35,000 บาท)

ทุนการศึกษา

  • โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.)
  • โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ทุน สควค.)
  • โครงการรับนักเรียนจากค่ายโอลิมปิกวิชาการ
  • โครงการรับผู้มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์
  • โครงการรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • โครงการรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวัสดุศาสตร์ 
  • โครงการวิทยพัฒน์

สามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์
เว็บไซต์ TCAS : tcas.science.cmu.ac.th
Facebook งานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์  : www.facebook.com/acad.sc.cmu

ข้อมูลการรับเข้าศึกษา TCAS
สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : https://www1.reg.cmu.ac.th/ugradapply/

 ทำไมต้องเรียนวิทยาศาสตร์

เพราะวิทยาศาสตร์ คือ รากฐาน
วิทยาศาสตร์ คือ การศึกษาความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ผ่านกระบวนการค้นหาความรู้ที่เป็นระบบ ระเบียบ และมีขั้นตอนที่ชัดเจน เป็นรากฐาน และเป็นหลักการขององค์ความรู้ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ การศึกษาวิทยาศาสตร์ จึงช่วยพัฒนากระบวนการคิดให้เป็นระบบ มีตรรกะ และสามารถประยุกต์ความคิดสู่การทำงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

เกิดจากความสงสัย นำไปสู่การหาคำตอบ
ความสงสัยนำมาซึ่งความพยายามในการหาคำตอบผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่ผ่านการทดสอบ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สั่งสม และถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน การตั้งคำถามย่อมนำมาซึ่งการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ คำถามมากมายนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาตินับครั้งไม่ถ้วน

เพื่อเปิดประตูสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้
นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีรากฐานมาจากการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งและถ่องแท้ จะช่วยทำให้เข้าใจแก่น และสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าโลกเปลี่ยนไปขนาดไหน วิทยาศาสตร์ก็ยังคงเป็นคำตอบอยู่เสมอ

ทำไมต้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ มช.

 เพราะเราทุกคนคือ “นักวิทยาศาสตร์ตัวจริง”

ความรู้ความสามารถที่เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จะช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างหลากหลายตามเป้าหมายของทุกคน โดยเฉพาะทักษะการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่จะทำให้คนเรียนวิทย์เป็นคนมีเหตุผล ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีหลักการ หลักฐานรองรับเสมอ

เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ สู่การเป็น “นักวิทย์” ในแบบของตัวเอง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใน “เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์” มีธรรมชาติและความเจริญของเมืองที่ผสมผสานอย่างลงตัวไม่ซ้ำใคร มีธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้จริง ช่วยให้เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ได้หลากหลาย เพียงก้าวออกจากมหาวิทยาลัย ก็สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์รอบตัวได้ไม่สิ้นสุด

นักวิทย์ที่ใคร ๆ ก็อยากชิดใกล้
ด้วยกิจกรรมพัฒนานักศึกษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงกิจกรรมพัฒนาความสามารถทางวิชาการ เช่น ภาษาอังกฤษ ทักษะการสื่อสาร รวมถึงการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจาก มช. มีความสามารถที่หลากหลายนอกจากความรู้ทางวิชาการ รวมถึง soft skill สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ค้นหาความจริงด้วยวิธีที่หลากหลาย
ผ่านการเรียนการสอนที่เน้นการลงมือปฏิบัติ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • ชื่อ-สกุล:  ดร. สุภารัตน์ ทองเพ็ง นักวิจัยหลังปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
  • การศึกษา: สาขาวิชาเคมี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัสนักศึกษา 500510173 (ป.ตรี)/540551082 (ป.เอก)
  • ความสำเร็จที่ได้รับ:
    - ปี 2550 ได้เข้าร่วมชมรมสันทนาการคณะวิทยาศาสตร์ ในการทำกิจกรรมต่างๆของคณะ
    - ปี 2552 ได้รับคัดเลือกทำหน้าที่กรรมการสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ในตำแหน่ง ปฏิคม
    - ปี 2553 ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนคณะวิทยาศาสตร์ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    - ปี 2553 ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานฝ่ายกีฬา ในจัดการแข่งขันกีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย (อะตอมเกมส์) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
    - ปี 2554 ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนจากคณะวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง กรรมการฝ่ายบัญชี คณะกรรมการบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นที่ 46 ซึ่งเป็นตัวแทนของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา 2553 เพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 46
    - ปี 2556 ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา ในองค์การนิสิต นักศึกษาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย (กวส.) เพื่อเป็นกรรมการกลางในการดำเนินงานการแข่งขันกีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย (อะตอมเกมส์)
    - ปัจจุบันทำงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก โดยใช้กระบวนการและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสังเคราะห์วัสดุเฟร์โรอิเล็กทริกแบบฟิล์มที่มีฮาฟเนียมออกไซด์เป็นพื้นฐาน และทำวิจัยร่วมกับประเทศจีนสำหรับการพัฒนาระบบนำส่งยาสู่เป้าหมายในรูปแบบต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งและลดอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงจากยา โดยการเตรียมตัวพายา (Drug carriers) ในการนำส่งยา (Drug delivery) ไปสู่บริเวณที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์

 

  • ชื่อ-สกุล: นางสาวพรกนก ธัญลักษณากุล
  • การศึกษา: ปริญญาตรี วท.บ. สาขาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ GPA 4.00
  • ความสำเร็จที่ได้รับ : • รางวัลผลการศึกษายอดเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2562 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ประจำปีการศึกษา 2562
    - รางวัลเรียนดี ประเภทผลการเรียนดีเด่น ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2562-2564
    - ดำรงตำแหน่งกรรมการชมรมดูนก สโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2564
    - ดำรงตำแหน่งประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2564
    - รางวัลเรียนดี ประเภทผลการเรียนดีเด่นตลอดหลักสูตร ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2565
    - รางวัลชนะเลิศการนำเสนอประเภทปากเปล่า ประจำสาขาสัตววิทยา ประจำปีการศึกษา 2565 ในงานนำเสนอผลงานเชิงวิชาการของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Undergraduate Research and Cooperative Education Symposium Academic Year 2022)
    - รางวัล The Best Atom ประจำปีการศึกษา 2565 ประจำสาขาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    - รางวัล Popular Poster Presentation Award ในการนำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง “Prey Species Identification from Pellets of Barn Owl (Tyto alba) Using DNA Barcode” ในงานประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเตมาติกส์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (The 11th Conference on Taxonomy and Systematics in Thailand) ระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ เชยจิตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 "เรื่องเล่าจากตัวแทนรุ่นพี่"

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย คงเป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งที่ใครหลายคนเฝ้ารอคอยใช่ไหมครับ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และอยากจะบอกว่า “มันคุ้มค่า” มากจริง ๆ สวัสดีครับผมชื่อศุภวิชญ์ สังข์ทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ ความประทับใจของผมก็คือ ที่นี่มีกิจกรรมเยอะมาก ๆ เลยครับ ถูกใจเด็กกิจกรรมแบบผมมาก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมจากพี่ ๆ สโมฯกลาง สโมฯคณะ ชมรมคณะ หรือมหาวิทยาลัยเอง ทำให้เราได้รู้จักกับคนใหม่ ๆ ได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วย เช่น พิธีกร ประสานงาน วางแผนกิจกรรม บริหารจัดการ รู้สึกว่าได้ทักษะต่าง ๆ จากกิจกรรมเหล่านี้ และชอบมากเลย ตั้งแต่ปี 1 ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมวิชาการ ก็ได้ทำค่ายมากมาย เช่น ค่ายฝึกคณะทำงาน ค่ายสนุกสุดสัปดาห์กับวิทยาศาสตร์ ค่ายค้นฝันปั้นนักวิทย์ และตอนปี 3 ก็ได้ทำงานในส่วนของนักศึกษาภาควิชา ตอนนั้นทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกครับผม ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนแต่ก็ได้ทักษะในด้านเอกสารทางการเงินไปเยอะพอควร มาถึงปีนี้ ปีที่ 4 ผมได้มาเป็นนายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ได้ออกแบบวางแผนกิจกรรมให้นักศึกษาทั้งคณะ ก็ได้เรียนรู้การบริหารจัดการองค์กร และติดต่อประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ท้าทายมากครับ ในด้านการเรียนก็รู้สึกว่าที่คณะวิทย์ มช. ค่อนข้างสนับสนุนนักศึกษามากเลยทีเดียว ผมเองก็เข้ามาในโครงการ พสวท. ซึ่งให้ทุนและโอกาสเราเยอะมาก ได้ไปเจอเพื่อน ๆ จากศูนย์ พสวท. ทั่วประเทศ ได้ทำวิจัยภาคฤดูร้อน และเพื่อน ๆ ผมหลายคนก็ได้ไปทำวิจัยที่ต่างประเทศอีกด้วย ที่คณะเรายังมีทุนทำงาน ทุนส่งเสริม ทุนให้เปล่าอีกมากมาย และกิจกรรม Workshop ด้านต่าง ๆ เช่น การใช้แชท GPT การทำเรซูเม่ การใช้โปรแกรมสำหรับงานวิจัย อีกหนึ่งเรื่องที่ประทับใจก็คือ สไตล์การสอนและความเป็นกันเองของอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ทำให้บรรยากาศการเรียนไม่ค่อยเครียดเท่าไร ผมรู้สึกชอบสังคมที่นี่ รู้สึกสนุกและเป็นกันเอง อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ที่ วิทยา มช.

Q & A

 1. ค่าเทอมของคณะวิทยาศาสตร์ เท่าไหร่
- เหมาจ่าย เทอมละ 16,000 บาท
2. จำเป็นต้องอยู่หอพักที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดให้ไหม
- ไม่จำเป็น
3. สวัสดิการสำหรับนักศึกษา มีอะไรบ้าง
- เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ. และ กรอ.)
- ทุนการศึกษาประเภทต่างๆ
- เงินกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
- ฯลฯ
4. สามารถเลือกสาขาวิชาได้เลยไหม
- สามารถเลือกได้บางสาขาวิชา เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ ธรณีวิทยา อัญมณีวิทยา วิทยาการข้อมูล วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
4.1 สามารถเลือกสาขาได้เมื่อไหร่
- สามารถเลือกสาขาวิชาได้ ปี 1 เทอม 2
4.3 หากเลือกสาขาวิชาแล้ว สามารถย้ายสาขาวิชาภายหลังได้ไหม
- สามารถย้ายสาขาวิชาได้ ตามเงื่อนไขของแต่ละสาขาวิชานั้น

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
E-mail : acad.scicmu@gmail.com      
โทรศัพท์ : 053-943315, 053-943316
โทรสาร : 053-222268, 053-892274        
เว็บไซต์คณะวิทยาศาสตร์ : www.science.cmu.ac.th
เว็บไซต์ TCAS : tcas.science.cmu.ac.th
Facebook : งานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มช.

ดาวน์โหลด PDF:

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารหลักสูตร หรือ TCAS ของคณะ